เลี่ยงลุยน้ำย่ำโคลน ลดเสี่ยงโรคฉี่หนู

ที่มา : กรมควบคุมโรค

เเฟ้มภาพ

                    ช่วงหน้าฝน หลายพื้นที่เกิดอุทกภัยและมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จนกระทั่งน้ำลดลง อาจทำให้มีการแพร่ระบาดของ “โรคฉี่หนู” หรือ “โรคเลปโตสไปโรสิส” เนื่องจากเชื้อโรคจะปนเปื้อนมากับน้ำ สคร.9 นครราชสีมา แนะหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือถุงพลาสติกสะอาดทุกครั้ง หรือถ้าไม่ได้สวมรองเท้าบู๊ท เมื่อลุยน้ำเสร็จต้องรีบล้างมือล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำโดยเร็ว

                   นางเบญจมาศ อุนรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ทำให้มีน้ำท่วมขังตามท้องไร่ท้องนา ประชาชนควรระมัดระวังโรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคฉี่หนูเป็นพิเศษ เนื่องจากการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ง่าย เชื้อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอก และการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ

                    อาการของโรคฉี่หนูเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จะปวดมากโดยเฉพาะที่น่องและโคนขา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการดังที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย แพทย์จะดำเนินการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคตามอาการ และความรุนแรงของโรค

                    จากสถานการณ์โรคฉี่หนู ปี 2564 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปีนี้พบว่าโรคฉี่หนูมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 17 ตุลาคม 2564 เขตสุขภาพที่ 9 มีรายงานผู้ป่วยจำนวน 25 ราย แยกเป็น จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 7 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 5 ราย จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 8 ราย และจังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 5 ราย

                    ส่วนสถานการณ์โรคฉี่หนูในเขตสุขภาพที่ 9 ปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 17 ตุลาคม 2565 มีผู้ป่วยจำนวน 76 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย แยกเป็น จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 16 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 13 ราย จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 42 ราย เสียชีวิต 1 ราย และจังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 5 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี กลุ่มอายุ 45-54 ปี กลุ่มอายุ 35-44 ปี ตามลำดับ อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือเกษตร  รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง และเด็กเล็ก ตามลำดับ

                    นางเบญจมาศ อุนรัตน์ กล่าวแนะนำว่า วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู มีดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกที่สะอาด    เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ 2.หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 3.หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422

Shares:
QR Code :
QR Code