เลี่ยงภัยร้ายที่แฝงมากับเทคโนโลยี

คนเราทุกวันนี้แทบจะเรียกได้ว่าต้องมีภาระหน้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือสื่อสารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ แบล็คเบอร์รี่ ไอโฟน ไอแพด คอมพิวเตอร์ ฯลฯ


ภัยที่แฝงมากับเทคโนโลยี


นั่นก็เป็นที่มาของปัญหาว่า ยิ่งเราใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านั้นอย่างไม่พอดี หรือใช้จนมากเกินไป ก็จะเป็นการทำลายสุขภาพแบบไม่รู้ตัวด้วยภัยร้ายที่แฝงมากับเทคโนโลยีเหล่านั้นนั่นเองผลกระทบกับระบบกล้ามเนื้อ


การใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านั้นเป็นเวลานานๆ โดยไม่รู้ตัว อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบกับระบบกล้ามเนื้อของร่างกายคนเราขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น


1.เกิดอาการชาที่มือ อันเกิดจากท่าทางการใช้เครื่องมือสื่อสาร เช่น บีบี ไอโฟน ฯลฯ ทำให้เกิดการกดทับของหลอดเลือด และเส้นประสาทบริเวณข้อมือ


2.การแนบโทรศัพท์มือถือที่หูคุยเป็นเวลานานๆ อาจจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรัง หรืออาการปวดศีรษะข้างเดียว หรือไมเกรน


3.การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมง อาจก่อให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณคอ บ่า และหลัง แต่ถ้ายิ่งปล่อยไว้นานวันเข้า อาจทำให้กระดูกคอเสื่อมเร็วกว่าปกติ เนื่องจากต้องก้มคออยู่ท่าเดียวเป็นเวลานานเกินไป


รวมทั้งอาจทำให้ปวดตา ตาพร่า เนื่องจากการใช้สายตาเพ่งในระยะเวลานานๆ ประกอบกับแสงที่จ้ามากจนเกินไปจากอุปกรณ์เทคโนโลยี และถ้าปล่อยไปนานวันเข้าก็อาจทำให้เกิดการสะสมของอาการ ส่งผลให้อ่อนเพลีย นอนหลับไม่สนิท โครงสร้างร่างกายผิดปกติเช่น หลังโก่งงอ ไหล่สูงต่ำไม่เท่ากัน คอตก ฯลฯ


วิภาพร สายศรี แพทย์อายุรเวท จากคลินิกรักษาโรคปวดศีรษะดอกเตอร์แคร์ ให้ความรู้ว่า การใช้คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือสื่อสารอย่างไม่ถูกต้อง เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการของโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อ เนื่องจากลักษณะเชิงกายภาพของคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เมื่อต้องใช้งานเป็นระยะเวลานานๆ จึงทำให้เกิดการใช้กล้ามเนื้อซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการเกร็งตัวสะสมของกล้ามเนื้อ จนเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ


“เมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ทำให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ การพักผ่อนและการบริหารกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี แม้จะไม่ใช่วิธีการรักษาในกรณีที่เกิดอาการปวดเรื้อรัง แต่ก็เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการบรรเทาอาการ และชะลอการเกิดอาการปวดเรื้อรังที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกล้ามเนื้อที่จำเป็นต่อการบริหารมาก ที่สุด 5 ส่วนได้แก่ กล้ามเนื้อคอ บ่า หลังแขน และข้อมือ”


แพทย์อายุรเวท กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่อาการปวดเรื้อรังอยู่ในระดับที่รบกวนการทำกิจกรรมตามปกติแล้ว การรักษาที่เรียกว่า Trigger Point Therapy เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ในการรักษาอาการปวดเรื้อรังของผู้ที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เนื่องจากเป็นการรักษาที่ต้นเหตุของการปวดคือTrigger Point (จุดกดเจ็บ) โดยวิธีการรักษาแบบ Trigger Point Therapy จะเป็นการคลายกล้ามเนื้อส่วนบนของมัดกล้ามเนื้อที่เป็นปัญหา และสลายจุด Trigger Point ที่เกิดจากการเกร็งตัวสะสมของมัดกล้ามเนื้อส่วนล่าง เมื่อจุด Trigger Point คลายออกจนเป็นกล้ามเนื้อปกติ การอักเสบของกล้ามเนื้อดีขึ้น อาการปวดเรื้อรังก็จะดีขึ้น และหายดีในที่สุด


บริหารกล้ามเนื้อป้องกันได้


ในกรณีที่มีการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังจนหายดีแล้ว การบริหารกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี จะเป็นการป้องกันและชะลอการกลับมาเกิดอาการ Trigger Point ได้ ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวันโดยมีเทคนิคการบริหารกล้ามเนื้อคอเพื่อคลายความตึงเครียดระหว่างการนั่งปฏิบัติงาน ให้ไปลองหัดบริหารกันง่ายๆ  5 ท่า เริ่มต้น


          – ท่าที่ 1 หันศีรษะไปทางด้านซ้ายช้าๆ ใช้มือซ้ายช่วยดึงค้างไว้นับ 1-10 วินาที จากนั้นสลับทำด้านขวา


          – ท่าที่ 2 ก้มศีรษะพยายามให้คางชิดอกมากที่สุด ค้างไว้ 10 วินาที


          – ท่าที่ 3 เงยหน้าขึ้นช้าๆ ไปด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ค้างไว้ 10 วินาที


          – ท่าที่ 4 เอียงศีรษะไปทางด้านขวา ใช้มือขวาช่วยดึงพยายามให้ศีรษะชิดไหล่มากที่สุด ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นสลับทำด้านซ้าย


          – ท่าที่ 5 หันศีรษะไปทางด้านซ้าย 45 องศา ใช้มือขวาช่วยดึงพร้อมก้มลงช้าๆ ให้มากที่สุดค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นสลับทำด้านขวา


บ้าเทคโนโลยีได้ แต่สุขภาพกายก็ต้องดูแล…นะ


         


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ โดย ปวศร พิทักษ์

Shares:
QR Code :
QR Code