เลี่ยงควันธูป ควรจุดในที่อากาศถ่ายเท

กรมควบคุมโรคเผยเทศกาลตรุษจีนควรเลี่ยงควันธูป แนะควรจุดในที่อากาศถ่ายเท และใช้ธูปชนิดสั้น 


ควันธูปมหาศาลตรุษจีน เสี่ยงสารก่อมะเร็ง thaihealth


นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนตามประเพณีจะมีการจุดธูปจำนวนมากในการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ทำให้มีความเสี่ยงได้รับความธูปในปริมาณมาก ซึ่งการจุดธูปจะเกิดการเผาไหม้ของขี้เลื่อย กาว และน้ำหอมในธูป สารต่างๆ หลายตัวจะถูกปล่อยออกมาคล้ายกับที่พบในควันบุหรี่ และควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และสารก่อมะเร็งหลายชนิด ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย    


นพ.โสภณ กล่าวว่า สารก่อมะเร็งที่สำคัญในควันธูปมี 3 ชนิด ได้แก่ 1.สารเบนโซเอไพรีน มีศักยภาพก่อมะเร็งสูงที่สุด มีความสัมพันธ์กับมะเร็งปอด ผิวหนัง และกระเพาะปัสสาวะ 2.สารเบนซีน มีความสัมพันธ์กับมะเร็งเม็ดเลือดขาว และ 3.สารบิวทาไดอีน มีความสัมพันธ์กับมะเร็งระบบเลือด นอกจากนี้ ยังพบว่าสถานที่ที่มีการจุดธูปต่อเนื่องมีสารเบนโซเอไพรีนสูงกว่าสถานที่ไม่จุดธูปถึง 63 เท่า ส่วนคนทำงานในวัดมีสารก่อมะเร็งในเลือดและปัสสาวะสูงกว่าคนไม่ได้ทำงานในวัดถึง 4 เท่า แต่ยังไม่พบหลักฐานชี้ชัดว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเนื่องจากควันธูป เพียงแต่พบหลักฐานว่า ควันธูปมีสารชักนำให้เกิดมะเร็ง


"จากสถิติการรักษาหญิงไทยที่ป่วยเป็นมะเร็งปอด พบว่ากว่าร้อยละ 50 ไม่สูบบุหรี่หรือไม่อยู่ใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่ แพทย์คาดว่าน่าจะมีสาเหตุก่อมะเร็งอื่นๆที่ไม่ใช่บุหรี่ และควันธูปอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ระยะเวลาที่จะส่งผลให้เป็นมะเร็งนั้นต้องสะสมเป็น 10 ปี เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่" อธิบดี คร. กล่าว


นอกจากนั้นสารพิษในควันธูปยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ง่วงนอน และหมดสติได้หากสูดดมระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือสูดดมควันธูป หากไม่สามารถเลี่ยงได้ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากป้องกันโรคปิดปากและจมูก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการพักผ่อนหรือนอนหลับบริเวณที่มีการจุดธูป และทำความสะอาดบ้าน เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองจากควันธูปที่อาจตกค้าง อธิบดี คร.กล่าวเพิ่มเติม


"การป้องกันอันตรายจากควันธูป คือ 1.เลี่ยงการจุดธูปในบ้าน สถานที่ทำงาน หรือ ศาสนสถาน ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก 2.ควรใช้ธูปสั้น เพื่อลดระยะเวลาและปริมาณของควันธูป 3.เมื่อเสร็จพิธีสักการะ ควรดับหรือเก็บธูปให้เร็วขึ้น และ 4.ผู้ที่ปฏิบัติงานในศาสนสถาน ควรเลี่ยงการสูดดมควันธูปเป็นระยะเวลายาวนานและต่อเนื่อง หรือใช้หน้ากากป้องกันโรคปิดปากและจมูก ใช้ถุงมือในการจับธูป และหลังจากจับควรล้างมือ ล้างหน้า ล้างตา ให้บ่อยขึ้น และควรไปตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีอย่างต่อเนื่อง" อธิบดี คร. กล่าวทิ้งท้าย


 


 


ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code