เลิฟ ไลค์ แชร์ แค่เมนต์ก็เป็นเรื่อง

          ในโลกยุคออนไลน์ ความรักฉาบฉวยเกิดขึ้นง่ายดาย ภาพมายามากมายในหน้าจอสี่เหลี่ยม ทำให้หลายคนเคลิบเคลิ้ม ขณะเดียวกันหลายต่อหลายคนกลับลืมเลือนคนรอบข้างในชีวิต


/data/content/24806/cms/e_ijnpqrtvxz48.jpg


          เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง "รัก 7 ปี ดี 7 หน" ตอน 14 ที่หยิบเรื่องราวความรักของหนุ่มสาววัย 14 ปี "ป่วน" และ "มิลค์" มาถ่ายทอดเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการใช้สื่อออนไลน์อย่างไร้ขอบเขต โดยป่วนมักจะโพสต์คลิปวิดีโอที่ถ่ายมิลค์ (แฟนสาว) ลงบนโซเชียลมีเดียเพราะหวังให้คนมากดถูกใจ จนในที่สุดก็กระทบต่อความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง เรื่องนี้จึงถูกยกมาพูดคุยใน กิจกรรม Movie Talk "เลิฟ ไลค์ แชร์ แค่ เมนต์ก็เป็นเรื่อง" โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็ว ๆ นี้


          ผู้กำกับและผู้เขียนบทภาพยนตร์ "เต๋อ- นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์" เล่าว่า "รัก 7 ปี ดี 7 หน" ตอน 14 นี้ต้องการสื่อสารว่า สิ่งที่เราโพสต์ลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอย่างที่วัยรุ่นหลายคนเข้าใจ เพราะสิ่งเหล่านั้นสามารถถูกมองเห็นได้โดยคนอื่นที่อยู่บนโลกออนไลน์ และมีสิทธิจะถูกคัดลอกไปใช้หรือนำไปเผยแพร่ต่อเมื่อไหร่ อย่างไรก็ได้ เหมือนการเอาตะปูไปตอกกำแพง ต่อให้เราถอนตะปูออกแล้วแต่ร่องรอยมันก็จะยังอยู่


/data/content/24806/cms/e_abfgjlmqsx27.jpg


          "หนังเรื่องนี้สะท้อนว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่เห็นแก่ยอดกดไลค์หรือการถูกใจจากผู้ใช้สังคมออนไลน์ จนทำให้ละเลยความรู้สึกของคนที่อยู่ในโลกความเป็นจริง ซึ่งในบางครั้งการโพสต์หรือการแสดงออกที่ใส่อารมณ์มากจนเกินไป ก็อาจจะกระทบกับความรู้สึกคนอื่นและก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้เช่นกัน จนในที่สุดก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์ได้ ซึ่งเรื่องบางเรื่องเราหันหน้าคุยกันจะดีกว่าพิมพ์ข้อความตอบโต้กัน เพราะข้อความบอกความรู้สึกไม่ได้ "


          นวพลยังบอกอีกว่า ส่วนตัวไม่โทษเรื่องของเทคโนโลยีที่มันพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเพราะที่สุดแล้ว ขึ้นอยู่กับผู้ใช้มากกว่าว่ามีความรู้เท่าทันมากแค่ไหน หากจะมองถึงข้อดีข้อเสียมันก็เหมือนดาบสองคม ในมุมของคนทำหนัง นอกจากจะเป็นพื้นที่ในการหาข้อมูล ติดตามข่าวสาร เชื่อมต่อ พูดคุยกับคนดู และยังเป็นโอกาสให้กับคนทำหนังรายเล็กได้มีช่องทางในการเผยแพร่ผลงานต่อสาธารณะได้ดีด้วย


          "แต่ยังไงเราก็ยังเชื่อว่า การได้ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน เช่น การเดินดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ใช้ประสาทสัมผัส รับรู้รส กลิ่น เสียง การมองเห็น การสัมผัส น่าจะส่งผลให้เกิดจินตนาการได้มากกว่า เพราะเวลาที่เราเขียนบทหนังสักเรื่องส่วนใหญ่เราก็มักมีเรื่องราวมาจากสิ่งที่พบเห็นจากการออกไปพบเจอด้วยตัวเอง"


         ผู้เขียนบทภาพยนตร์ทิ้งท้ายถึง "ครอบครัว" ด้วยว่า ผู้ปกครองไม่ควรจะต้องจำกัดหรือแอนตี้โลกออนไลน์ เพราะมันเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ แต่ควรจะใช้วิธีการสอน การให้คำแนะนำที่ถูกต้องสำหรับเด็กจะดีกว่า โดยที่ผู้ปกครองเองก็ควรจะต้องเรียนรู้การใช้สื่ออย่างถูกวิธีด้วย


/data/content/24806/cms/e_ahijlqtz2369.jpg


          ด้าน "อุทัย เอี่ยมวิศิษฏ์" ผู้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้พร้อมกับลูกสาว "เด็กหญิงรวีวัฒน์ เอี่ยมวิศิษฏ์" วัย 11 ขวบ เล่าว่า อยากให้ลูก ๆ ได้เรียนรู้และรู้เท่าทันการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพราะพวกเขากำลังเข้าสู่วัยที่อยากรู้อยากเห็น การที่เราอธิบายให้ฟังถึงโทษภัยของการติดโลกออนไลน์ บางครั้งเขาก็ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด จึงเชื่อว่าการที่พาเขาออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านโดยเฉพาะการดูหนัง ซึ่งมีความสนุกสนานและสอดแทรกสาระต่างๆ นี้จะทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น


          ในอนาคตเทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้า ฉลาดพอที่จะเป็นเพื่อนและตอบสนองมนุษย์ได้มากขึ้น แต่ชีวิตจริง ๆ คนเราก็ต้องเจอปัญหา ไม่สามารถเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงได้ "การเรียนรู้เพื่อเท่าทันสื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในยุคนี้"


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code