เลิกเหล้า เข้าพรรษาฝันไม่ไกล ไปได้ถึง
มีการสำรวจตัวเลขว่า นักดื่มในบ้านเรามีจำนวนถึงกว่า 7 ล้านคน ที่ปวารณาตนเข้าร่วมโครงการ "งดเหล้าเข้าพรรษา" ที่ผ่านมา ทำให้ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เม็ดเงินที่กระจายลงไปในธุรกิจ น้ำเมาทั้งกรุงเทพ และต่างจังหวัด ลดลงไปไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท
แฟ้มภาพ
จากความตั้งใจจริง ในโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา จึงขยายผล ต่อเนื่องนำมาสู่โครงการเลิกเหล้า เพราะทั้งหมดนั้นคือการจุดประกายให้ สังคมตื่นตัว และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญ ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้เชื่อมต่อความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน
โดยเฉพาะเมื่อมองถึงความตื่นตัวในชุมชนต่างๆ พบว่า การรณรงค์ และดำเนินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษานั้น สามารถช่วยคนในชุมชนต่างๆ ให้กลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้อีกครั้ง นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ชี้ให้เห็นภาพว่า สังคมไทย ยังเป็นทาสของธุรกิจแอลกอฮอล์ คนจำนวนไม่น้อยที่ยึดติดกับความเชื่อที่ว่า เมื่อดื่มเหล้าแล้วจะมีเพื่อน ดื่มแล้วสดชื่น ชื่นใจ ทำให้ช่วงชีวิตหนึ่งต้องมาอยู่กับวงจรเหล้า ทั้งที่ หลายคนมีศักยภาพทำอย่างอื่นได้มากมาย และอีกหลายคนไม่มีโอกาสได้บอกเล่าประสบการณ์เลิกเหล้าของตัวเอง เพราะเสียชีวิตไปก่อน หรือ เจ็บป่วย หรือยังอยู่ในวังวน
จากสถิติที่สำรวจ พบว่าการทำโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ตั้งแต่ปี 2546 มีคนงดเหล้าเพิ่มขึ้นเกินกว่า 50%และอีกหลายคน สามารถเลิกเหล้าต่อเนื่องไปถึงหลังออกพรรษาได้เกิดคนที่เป็นต้นแบบ ในการเลิกเหล้าในหลายๆ ชุมชน
คุณนิพล วิชัย พ่อค้าย่านพระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งอาศัย อยู่ในชุมชนไทยเกรียง เคยติดเหล้าหนักมาก จนมาเริ่มคิดได้ตอนที่ ลูกชายอายุ 15-16 ปี จึงได้ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเริ่ม เลิกเหล้าตั้งแต่ตอนนั้น เมื่อตัวเองเลิกเหล้าได้ คนอื่นๆ ในชุมชนก็หันมาเชื่อถือและชื่นชม และยังได้รับเลือกเป็นกรรมการชุมชนด้วย จากนั้นจึงไปชวนคนอื่นๆ ให้มาเลิกเหล้าด้วยกัน ซึ่งโครงการงดเหล้า เข้าพรรษานั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการงดเหล้าต่อเนื่อง
"ทุกวันนี้สิ่งที่ผมทำเป็นประจำคือชักชวนให้คนที่ดื่ม ลด ละ เลิก เพราะหากเขาเลิกได้ความสุขจะตามมา เราเองก็รู้สึกดีตามไปด้วย" คุณนิพล กล่าว
เช่นเดียวกับ คุณนัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กทม. ที่เล่าว่า เริ่มจากดื่มเหล้ายาดอง เพื่อขับน้ำคาวปลา และรู้สึก ว่ารสชาติดี หลังจากนั้นก็ดื่มมาเรื่อยๆ ก่อนเปลี่ยนไปเป็นเบียร์ และเหล้า อย่างอื่นในเวลาต่อมา รวมถึงสูบบุหรี่ด้วย เพราะเป็นผู้หญิงทำงาน และ อยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ดื่ม กินด้วยกัน ส่วนสามีก็เป็นนักดื่ม เธอจึงแค่รู้สึกว่า สามีดื่มได้ เธอก็ดื่มได้ แต่พอเมาแล้วก็เสียงานเสียการ จนต้องตกงาน และเริ่มมีปากเสียง มีความรุนแรงในครอบครัว ตลอดจนเริ่มมีปัญหา สุขภาพ ซึ่งเมื่อได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทำโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ทำให้สามารถหันมาเลิกเหล้าได้อย่างจริงจัง
นอกจากนี้ คุณนัยนา ยังสะท้อนปัญหา ในชุมชนว่า มีปัญหาเรื่องการดื่มเหล้าอยู่มาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ความรุนแรงในครอบครัว จึงได้ทำโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2557 กับคนในชุมชนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผลที่ได้คือ ผู้คนในชุมชนที่ดื่มเหล้าเปลี่ยนพฤติกรรมจากหน้ามือเป็นหลังมือ ครอบครัวดีขึ้น ชุมชนดีขึ้น และยังได้ชักชวนให้คนในชุมชนงดเหล้าต่อเนื่องหลังเข้าพรรษาอีกด้วย โดยจะเพิ่มเวลาขึ้นอีก 1 เดือน โดยจะทำในลักษณะของการงดเหล้าด้วยความสมัครใจไปก่อน แต่จะพยายามทำให้เลิก 3 เดือน ก่อนขยาย ไปเป็น 6 เดือน เพื่อให้สามารถเลิกได้ตลอดไป
ภายหลังจากการรณรงค์ให้เป็นชุมชนปลอดเหล้า ผลที่ได้คือ ชุมชนไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มีขโมย ไม่มีความรุนแรงในครอบครัว และขณะนี้ก็มีการเชิญชวนคนในหมู่บ้านหลายๆ แห่ง ที่ตั้งใจงดเหล้าเข้าพรรษาได้งดต่อเนื่องไป เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นช่วยลดละเลิกเหล้า ตลอดชีวิตให้ได้จนสำเร็จ ทั้งยังมีเงินเหลือเก็บเพื่อครอบครัวอีกด้วย การรณรงค์เลิกเหล้าเข้าพรรษาจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยชีวิตหลายคนให้กลับมามีครอบครัวที่มีความสุข มาทำหน้าที่ให้กับครอบครัว พร้อมร่วมสร้างชุมชนให้ดีขึ้น จนเป็นสังคมที่น่าอยู่ได้อีกครั้ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาประกอบจากแฟ้มภาพ