เลิกคิดชายเป็นใหญ่ สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้

สร้างสุขในครอบครัว

 

 เลิกคิดชายเป็นใหญ่ สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้

 

          เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรง2553 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดตัวแคมเปญ “สองเราเท่าเทียม” สะท้อนชีวิตจริงที่ทำได้ จากผู้ชาย 4 คน ที่นั่งทำงานบ้าน ซักผ้า ทำกับข้าว เลี้ยงลูก กลางลานวิคตอรี่พอยท์ ทั้งนี้ภายในงานมีการเสวนา “แค่เลิกคิดว่าชายเป็นใหญ่ สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้จริงหรือ?”

 

          จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า เดือน พ.ย. ถือเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีแต่ปัจจุบันสังคมส่วนใหญ่มองว่าผู้ชายต้องเป็นใหญ่ในครอบครัว แต่ปรากฏว่า เมื่อมูลนิธิเพื่อนหญิงได้ทำแบบสำรวจทัศนคติและความคิดเห็นของผู้ชายหัวข้อ “แค่เลิกคิดว่า..ชายเป็นใหญ่..สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้” ระหว่างวันที่ 17-23 ต.ค. 2553 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายทั้งหมด 1,139 คน จาก 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชุมพร สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ เชียงใหม่ และลำพูน พบว่าทัศนคติของผู้ชาย ในมิติความเสมอภาคหญิงชายนั้นดีขึ้นกว่าอดีตมาก อาทิ ผู้ชายส่วนใหญ่เห็นว่า การแสดงออกถึงความเป็นชายคือการรักและรับผิดชอบครอบครัวไม่ใช่การดื่มเหล้า

 

          โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งในประเด็นนี้กว่าร้อยละ 89.60 และเมื่อถามว่า “ผู้ชายเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามในบ้าน ควรรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยึดความคิดตัวเองเป็นหลัก” พบว่า มีผู้ชายที่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่งรวมสูงถึงร้อยละ 91.90 ส่วนประเด็น “ผู้ชายที่ช่วยทำงานบ้าน เป็นการช่วยกันแบ่งเบาภาระของผู้หญิงและถือเป็นงานของครอบครัว” พบว่า ผู้ชายที่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่งกว่าร้อยละ 89.80 และเมื่อถามว่า “ผู้ชายรักเดียวใจเดียว ซื่อสัตย์กับภรรยาน่ายกย่อง” มีผู้ชายมากถึงร้อยละ 86.90 ที่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่ง

 

          นายจะเด็จ กล่าวต่อว่า เมื่อถามว่า”ภรรยาไม่ใช่สมบัติของสามี จึงต้องให้เกียรติ ไม่ดุด่า ทุบตี บังคับหลับนอน” ปรากฏว่าเป็นที่น่าดีใจ เพราะกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 82.60 ที่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่ง สำหรับคำถามที่ว่า “ผู้ชายต้องเข้ามามีส่วนเลี้ยงดูลูก ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงฝ่ายเดียว” พบว่าร้อยละ 89.40 ที่ผู้ชายเห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่ง ส่วนประเด็นการยอมรับความสามารถของผู้หญิง กับคำถามว่า “ความสามารถไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ ผู้หญิงก็มีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าผู้ชาย” นั้นพบว่าผู้ชายกว่าร้อยละ 85.60 ที่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่ง

 

 เลิกคิดชายเป็นใหญ่ สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้

 

          อย่างไรก็ตามผลในทางปฏิบัติจริงของผู้ชายจะสอดคล้องกับความคิดเห็นที่ได้มานี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป ซึ่งคงต้องรณรงค์กันอย่างเข้มแข็ง จริงจังและต่อเนื่อง โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้มูลนิธิและแกนนำผู้ชายเลิกเหล้า ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอเรื่องความเสมอภาคหญิงชายในมิติของการศึกษาและในวันที่ 12 พฤศจิกายน จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วย

 

          ด้านพันตำรวจโทพิเชียร สุวพิศ ข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจภูธรสลุยจังหวัดชุมพร ในฐานะผู้ชายต้นแบบที่ทำหน้าที่แทนภรรยาได้ กล่าวว่า ตนเข้าใจจิตใจของผู้หญิง โดยคิดว่าผู้หญิงซื่อสัตย์มากกว่าผู้ชาย มีความรับผิดชอบสูง มีศีลธรรมมากกว่า และไม่ค่อยมีอบายมุขเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สังคมกลับคิดว่าผู้หญิงมีความสามารถไม่มากเหมือนผู้ชาย จึงไม่ให้โอกาสผู้หญิง ทั้งที่ควรเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากกว่านี้เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน จึงไม่ควรยึดติดคำว่า “ช้างเท้าหน้า ช้างเท้าหลัง” โดยเฉพาะกรณีที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชายต้องเห็นใจและควรใส่ใจดูแล

 

          “ใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันต้องเข้าใจกันต้องมองว่าภรรยาไม่ใช่คนรับใช้ ต้องถนอมน้ำใจกัน เพราะสมัยนี้คนเราอารมณ์รุนแรงขึ้นเห็นได้จากการมาแจ้งความเรื่องการทะเลาะตบตีกัน เพราะขาดสติ จากการเมา การพนันยาเสพติด มีเพิ่มมากขึ้น” พันตำรวจโทพิเชียร กล่าว

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update : 09-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code