เร่งแก้สารตกค้างอาหารกลางวันนักเรียน

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจาก สสส.


เร่งแก้สารตกค้างอาหารกลางวันนักเรียน thaihealth


เผยผลวิจัยตรวจหา สารตกค้างในอาหารกลางวันนักเรียน พบยาฆ่าแมลงในผัก ผลไม้ เกือบ 100% ซ้ำในปัสสาวะครู-นักเรียน มีสารเคมีตกค้างถึง 99% เสนอ ศธ.เร่งแถลงนโยบายอาหารกลางวันโรงเรียนที่มีคุณภาพ-ปลอดภัย


เร็วๆ นี้ นายมารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิฯได้ศึกษาวิจัยตามโครงการการจัดการสารเคมีในระดับท้องถิ่น และการส่งเสริมการบริโภคอาหารกลางวันที่ปลอดภัยใน 55 โรงเรียน จาก 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ 20 แห่ง ปทุมธานี 11 แห่ง สกลนคร 12 แห่ง และพังงา 12 แห่ง ระหว่าง ก.ค.60 – ต.ค.61  โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กร The Field Alliance มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Greenpeace Thailand


ผลจากการตรวจหาสารตกค้างในอาหารกลางวันโรงเรียน ในผักที่โรงเรียนใช้มากที่สุด และบ่อยที่สุด 5 ชนิด 4 ภาค พบว่าเด็กทุกภาคกินผักเหมือนกันเกือบทุกชนิด เช่น แครอท กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง คะน้า มะเขือเจ้าพระยา มะเขือเทศ และในการตรวจได้ส่งเข้าห้องแล็ป และตรวจเพียง 2 กลุ่ม คือ ออร์กาโนฟอสเฟต กับ พัยรีธรัม  เพราะได้สำรวจชาวบ้านแล้วว่าใช้อะไรบ้าง ปรากฏว่ามีการใช้สารฆ่าแมลงกลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟตมากในผักกับผลไม้ โดยเฉพาะผักที่ส่งตรวจ 5 ชนิด พบเกือบ 100% และสารที่พบมากที่สุด คือ คลอร์ไพริฟอส ส่วนสารฆ่าแมลงพัยรีธรัม ก็ใช้มากพอๆ กับคาร์บาเมต คือ 92%


ที่น่าตกใจคือมีการตรวจปัสสาวะด้วย ทั้งนักเรียนและ ครู  436 ตัวอย่างใน 4 จังหวัด พบ ออร์กาโนฟอสเฟต ตกค้างในปัสสาวะถึง 99% ของตัวอย่าง ซึ่งสารออร์กาโนฟอสเฟต ก็คือสารที่มีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทรอบนอก


จากข้อมูลที่ได้นี้ ทางมูลนิธิการศึกษาไทยได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการ และตอนนี้กำลังทำรายงานเสนอรัฐมนตรี เราจึงรอกระทรวงแถลงแผนการ นโยบายอาหารกลางวันโรงเรียน แต่โดยหลักแล้ว คือต้องการให้โรงเรียนปลอดสารเคมี อาหารกลางวันโรงเรียนปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่ผักผลไม้อย่างเดียว เนื่องจากตรวจเจอฟอร์มาลีน บอแรกซ์ ในเนื้อสัตว์ ลูกชิ้น ไส้กรอก ด้วย ฉะนั้นต้องมีรูปแบบการผลิตที่ปลอดภัย เพราะทันทีที่กระทรวงศึกษาฯ ประกาศออกไป ถามว่าโรงเรียนจะไปซื้อวัตถุดิบปลอดภัยจากที่ไหน ถือเป็นโจทย์ที่หลายโรงเรียนกลุ้มใจทำไม่ได้ แต่เป็นนโยบายที่ดี ดังนั้นทุกฝ่ายต้องทำงานกันอีกมาก


ทั้งนี้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีประมาณ 3 หมื่นแห่ง ถ้ารวมเอกชนและวิทยาลัยด้วยก็ประมาณ 5-6 หมื่นแห่ง เหล่านี้ คือตลาดที่จะเกิดขึ้น ถ้านโยบายนี้ออกไป ก็ต้องมีคนผลิตเข้ามา โชคดีที่ขณะนี้ ทางมูลนิธิชีววิถี มีแผนเรื่องเกษตรอินทรีย์ 20 จังหวัด ถ้ามาร่วมมือกัน ได้ก็จะช่วยได้อีกระดับหนึ่ง

Shares:
QR Code :
QR Code