เร่งแก้ปัญหาวัยรุ่นท้องไม่พร้อม
พบแม่วัยรุ่น อายุ 15-19 ปี มีอัตราคลอดมาก เด็กแรกเกิดจึงน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ภาคีเครือข่ายเร่งแก้ปัญหา
วันที่ 21 พฤษภาคม ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ) กล่าวในการประชุมวิชาการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติครั้งที่ 4 อนามัยการเจริญพันธุ์ : ประชากรคุณภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) มูลนิธิคอนเซ็ปท์ (Concept Foundation) ว่า ปัจจุบันจำนวนเด็กแรกเกิดลดเหลือปีละ 8 แสนคน โดยเกิดจากวัยรุ่นหรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีมากขึ้น เห็นได้จากอัตราการคลอดของหญิงอายุ 15-19 ปี ต่อประชากรวัยดังกล่าวจำนวน 1,000 คน เพิ่มจากร้อยละ 50.1 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 53.8 ในปี 2555
ผลจากการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นยังส่งผลกระทบตามมาหลายด้าน อาทิ เด็กแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแม่มีอายุน้อยลง ก็จะพบการเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มากขึ้น รวมถึงอัตราการทำแท้งและความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา ซึ่งล้วนมีผลต่อคุณภาพประชากรที่จะเติบโตในอนาคต
ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2557) เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และลดปัญหาการตั้งครรภ์ให้เด็กที่เกิดทุกรายปลอดภัยและมีคุณภาพ โดยเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ที่สตรีมีความพร้อมและตั้งใจ ดังนี้
1.ส่งเสริมการส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์แบบบูรณาการ 2. ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น เช่น สนับสนุนการจัดตั้งคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงการให้คำปรึกษาบริการด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ และ 3.ส่งเสริมการเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัว และอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อให้ชายหญิงวัยเจริญพันธุ์มีความรู้เกิดความตระหนัก และเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ และบริการคุมกำเนิดที่เหมาะสม
ที่มา: มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต