เร่งเครื่องการออมทุกช่วงวัย โจทย์ใหญ่ `สังคมสูงอายุ`
โจทย์เร่งด่วนของประเทศไทย คือ จากนี้ไทยต้องเร่งและแข่งขันกับเวลา เพื่อสร้างคุณภาพและผลิตภาพกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21
ด้วยเหตุแห่งไทยกำลังก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เพราะความเคลื่อนไหวของกระแสวัฒนธรรมโลกจากการเคลื่อนย้ายประชากรแพร่หลายของวัฒนธรรมต่างถิ่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีความรวดเร็วและลึกซึ้งขึ้นระหว่างคนต่างชุมชน ชนชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ย่อมนำไปสู่การต่อยอดความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะเป็นทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางสังคมในอนาคต
แฟ้มภาพ
ในฐานะหน่วยงานทางวิชาการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ประเมินแนวโน้มประชากรไทยกลับน่าห่วง โดยพบว่า ประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 66.4 ล้านคน ในปี 2569 จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 63.9 ล้านคน ในปี 2583 สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2569
มิติปัญหาผู้สูงวัยหนึ่งในนั้นคือ แนวโน้มประชากรวัยสูงวัยเพิ่มขึ้น แต่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ขาดความมั่นคงทั้งด้านรายได้ และโรคเรื้อรังมีผู้สูงอยุและเด็กถูกทอดทิ้ง ให้ดำรงชีวิตเพียงลำพัง และในลักษณะของครอบครัวขยายลดลงนี้
นั่นก็หมายความว่าจากนี้ จะมีคนเกิดน้อย แต่อายุยืนมากขึ้น
"การสร้างวินัยและส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงวัยเด็กจนถึงวัยแรงงาน โดยการปลูกฝังพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างประหยัด สมเหตุสมผลตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ขณะที่ส่งเสริมการออมในวัยแรงงานเพื่อสร้างความมั่นคงของครอบครัวและชีวิตในวัยเกษียณ"
แม้วันที่ 13 เมษายน "วันผู้สูงอายุ" ปี 2558 ประเทศไทยยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง ที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบกับ "ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)" (ฉบับที่..) พ.ศ….โดยถือว่าเป็นแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยในอนาคตได้อย่างเห็นผล
และนี่คือ ทิศทางหลักที่มูลินิธิในการเตรียมรับมือสังคมสูงสัย เพราะการป้องกันไม่ให้ประเทศไทย เต็มไปด้วย "ผู้สูงวัยที่ยากจน" และมีแผนการเงินที่เตรียมพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้น้ำหนัก ในการมุ่งเข็มทิศการพัฒนานับจากนี้
ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้สูงวัยจำนวน 9.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 2548 คือมีประชากรสูงสัยเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และในอีก 15 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของประชากรไทยทั้งประเทศ
ตัวเลขอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของประชากรผู้สูงวัยอย่างรวดเร็วนี้ เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักและมีการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี การคุ้มครองดูแลผู้สูงอายุ การจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ตลอดจนการสร้างหลักประกันทางสังคมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกเป็นเป้าหมาย
สิ่งที่ชวนคิดต่อไปคือฉากทัศน์สังคมสูงวัยในอนาคต อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อเข้าสู่สังคมสูงสัยอย่างสมบูรณ์ปี 2564 และปี 2567 จะเป็น super-aged society (คนแก่อายุ 65 ปี มีร้อยละ 20) ส่งผลให้ประเทศไทยจะ "แก่" ก่อน "รวย"
ขนาดครัวเรือนจะเล็กมาก ต่ำกว่า 2.5 คน ในปี 2576 ส่วนผู้สูงอายุจำนวนมากจะอยู่คนเดียว มีรายได้/สวัสดิการจำกัด โดยเฉพาะผู้อยู่ในตลาดแรงงานนอกระบบ ที่จะแก่-จน-โดดเดี่ยว
เมื่อประเทศไทยเจอกับโจทย์โครงสร้างประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ขณะเดียวกันประชากรวัยสูงอายุกลับเพิ่มทวีคูณขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ น่าจะมีอีกหลายประเด็นที่ชวนคิดต่อเพื่อหามาตรการรองรับให้ผู้สูงวัยไทย สามารถดำรงชีพได้อย่างมีความสุข ตราบสิ้นลมหายใจ…
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)