เร่งเกิดกองทุนสุขภาพคนไร้สัญชาติ
สร้างความเป็นธรรมทั่วถึง
เครือข่ายสมัชชาสุขภาพชาติพันธุ์ผนึกกำลัง สสส. เปิดเวทีใหญ่แลกเปลี่ยนการทำงานด้านสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ จี้กองทุนสุขภาพคนไร้สัญชาติ เร่งดำเนินการจริงจัง ทั่วถึง เป็นรูปธรรมและชัดเจน อย่าผลักภาระให้ประชาชน เร่งผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซัดรัฐขาดการประชาสัมพันธ์ เผยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นประชาชนไม่รู้สิทธิของตนเองมากถึงร้อยละ 80
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาติพันธุ์ ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดประชุมสมัชชาสุขภาพชาติพันธุ์ โดยมีวาระสำคัญเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานเรื่องสิทธิพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ โดยมีการหยิบยกประเด็นความคืบหน้าเรื่องกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งขณะนี้เม็ดเงินยังไม่ถึงมือผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ จึงไม่สามารถที่จะดำเนินการให้บริการได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ยังเป็นการสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพให้แก่เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องด้วย
นางอาภา หน่อตา ผู้ประสานงานเครือข่ายสุขภาพชาติพันธ์บนพื้นที่สูง (คชส.) กล่าวถึงความคืบหน้าของกองทุนการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิว่า ขณะนี้เม็ดเงินยังมาไม่ถึง แต่ตัวเลขจากสำนักงบประมาณได้มาถึงกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้เกิดความระส่ำระสายกันว่า กองทุนตัวนี้จะมีความแน่นอนหรือไม่ ซึ่งทางฝ่ายบริการเองก็กลัวว่าจะไม่ได้เงิน กลัวความไม่ชัดเจน หรือว่ามติของคณะรัฐมนตรีตัวนี้จะมีการยกเลิกหรือไม่ และหนังสือคำสั่งที่มาจากกระทรวงสาธารณสุขก็สร้างความกระจ่างในเรื่องข้อมูลนี้ได้ไม่มากนัก
ที่ผ่านมามีการจัดเวทีใหญ่ที่จะใช้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและตัวแทนประชาชนเพียงแค่ 2 เวทีเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในเวทีนั้น เป็นการให้ความรู้กับหน่วยงานสาธารณสุขภาคเหนือ และได้พูดคุยเรื่องนี้กันอย่างชัดเจน แต่พอกลับมาปฏิบัติจริง ก็ยังเหมือนเดิม ยังไม่เข้าใจเท่าที่ควร คือทางผู้ให้บริการมองเหมือนว่าจะผลักภาระมาให้ประชาชน แทนที่จะไปทักท้วงที่สาธารณสุข แต่กลับไปผลัดผ่อนคนไข้โดยไม่รักษา ไม่รับรักษา รักษาจริงแต่ไม่ได้ยาที่ดีมีคุณภาพ การผ่าตัดก็ต้องโดนเลื่อนไปไม่มีกำหนด เพราะว่าต้องรอให้ได้เงินมาก่อน ซึ่งยังมีคนที่อยู่ในสังคมที่ยังเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขอีกเป็นจำนวนมาก การคืนสิทธิก็ยังไม่ครบด้วยซ้ำ
เช่นคนที่เคยโดนยึดบัตรทองที่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ประมาณ 4 หมื่นกว่าใบ แต่พอให้สิทธิก็ได้แค่เพียง 1 หมื่น 8 พันกว่าคนเท่านั้น ซึ่งยังเหลืออีกเป็นจำนวนมาก เราจะต้องทำอย่างไรให้คนที่ได้รับคืนสิทธิมีการขยับ แต่ตอนนี้เป็นเหมือนการนำร่องและยังเป็นของใหม่อยู่ ปัญหาใหญ่คือทางภาคหน่วยบริการเอง ก็ไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสิทธิตัวนี้ ได้คำสั่งมาก็ตีความแตกต่างกันไป ซึ่งสิ่งสำคัญคือภาครัฐต้องมีการจัดเวทีย้ำไปเรื่อยๆ และสร้างความเข้าใจให้ได้ว่าต้องทำ ต้องปฏิบัติให้ได้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการลงพื้นที่ให้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐหรือว่าภาครัฐจะทำงานร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนในการให้ความรู้แก่ประชาชนแต่อย่างใด
นายสวัสดิ์ คำฟู ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลไกประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิภาคเหนือ กล่าวถึงการผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขว่า ขณะนี้จากข้อมูลมีประชากรประมาณ 47 ล้านคน ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นคนที่ใช้บัตรทองหรือบัตร 30 บาท แต่ว่ายังเหลืออีกเกิน 10 ล้านคนที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง กรณีที่เกิดความเสียหาย และสิทธิที่เป็นสวัสดิการจากราชการ สิทธิที่เป็นประกันสังคม ปัญหาที่จะตามมาก็คือว่ากรณีที่ประชาชนไปใช้บริการในโรงพยาบาล คลินิกเอกชน โรงพยาบาลเอกชน ถ้าเกิดความเสียหาย เกิดความผิดพลาด อันทำให้ก่อความพิการ หรือว่าเสียชีวิต ก็ไม่สามารถที่จะฟ้องร้องจากตัวระบบนั้นได้ จึงต้องไปฟ้องแพ่ง ฟ้องอาญากันเอง หากพระราชบัญญัติฉบับนี้เกิดขึ้น ประชาชนจะสามารถใช้ช่องทางนี้ในการเรียกร้องสิทธิของตัวเองในการรับการชดเชยต่างๆ ได้
นายธนวัฒน์ ผัดน้อย เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (คชส.) กล่าวถึงเรื่องความรู้ความเข้าใจในกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น และกระบวนการมีส่วนร่วมในกองทุนของประชาชนว่า ในฐานะที่เราทำงานเป็นกลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ เราได้เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งจะสนับสนุนให้ประชาชนรวมกลุ่มกันเพื่อของบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล เพื่อทำโครงการหรือกิจกรรมที่ใช้ในการดูแลเรื่องสุขภาพของชุมชนตนเอง เช่น ในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคหรือการฟื้นฟูก็สามารถของบประมาณจากส่วนนี้ได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ
update : 08-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร