เร่งสกัดป้องกัน“ซิกา”ระบาด

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เร่งสกัดป้องกัน“ซิกา”ระบาด thaihealth


แฟ้มภาพ


สธ.เร่งรับมือหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา พร้อมขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งเป็นการลดพาหะนำเชื้อโรค ทั้งเชื้อไข้เลือดออก และเชื้อไวรัสซิกา


นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผอ.สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 9 จ.นครราชสีมา เปิดเผยหลังเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสซิกา ในประเทศไทย ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อแล้วใน 7 จังหวัด โดยล่าสุดพบที่ กทม.ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย ให้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัด ร่วมมือและสนับสนุนบุคลากร ในการควบคุมโรคเชื้อไวรัสซิกา ทั้งนี้ พื้นที่ 4 จังหวัด ในกำกับดูแลของสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 9 ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว


นพ.ธีรวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นห่วงเรื่องโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยจากรายงานตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2559 ใน 4 จังหวัดนี้ พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 3,007 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่ ที่ จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 446 ราย เสียชีวิต 2 ราย , จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 401 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต , จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วย 995 ราย เสียชีวิต 1 ราย และ จ.สุรินทร์ พบผู้ป่วย 1,165 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต


ทั้งนี้ สำหรับโรคไข้เลือดออกนั้นยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษาเฉพาะ จะเป็นการรักษาตามอาการ ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือประสานทั้ง 4 จังหวัด โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเจ้าหน้าที่ลงไปพ่นควันกำจัดยุงลาย และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งเป็นการลดพาหะนำเชื้อโรค ทั้งเชื้อไข้เลือดออก และเชื้อไวรัสซิกา ด้วย


ขณะเดียวกัน รายงานข่าวจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกาว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อกว่า 20ราย กระจายอยู่ตามพื้นที่เขตต่างๆ โดยเขตสาทร เป็นพื้นที่พบผู้ติดเชื้อดังกล่าวมากที่สุด โดยหนึ่งในผู้ป่วยเป็นหญิงตั้งครรภ์ ได้รับเชื้อมาจากต่างประเทศ ปัจจุบันคลอดบุตรแล้ว ซึ่งต้องรอติดตามอาการและสถานการณ์ แต่ที่พบคือทารกแข็งแรงดี ไม่พบความผิดปกติ ตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะไม่พบเชื้อใดๆ แต่ยังต้องตามผลเลือดต่อเนื่องอีกระยะ


ส่วนอาการโรคไข้ซิกา คือ มีอาการไข้ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่งโดยปกติอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย และเป็นอยู่ 2 – 7 วัน ก็จะหายได้เอง แต่หากผู้ป่วยมีอาการป่วยรุนแรงจะต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดทันที


อีกด้านหนึ่ง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกา พบประปรายในประเทศไทย และประเทศกลุ่มอาเซียน การตรวจจับและวินิจฉัยโรคทำได้เร็วขึ้น ที่สำคัญ ซิกาไม่ใช่โรคใหม่อาการไม่รุนแรงเหมือนโรคไข้เลือดออก สามารถหายเองได้ ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ แต่มีผลต่อหญิงตั้งครรภ์เพราะทำให้เด็กเกิดมาพิการแต่กำเนิด มีศีรษะเล็ก ซึ่งขณะนี้มีการติดตามอยู่ สิ่งสำคัญคือต้องร่วมกันควบคุมโรคนี้ โดยทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย


นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า เมื่อช่วงต้นปีประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี ดัชนีลูกน้ำยุงลายจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 10 ทำให้ไข้เลือดออกลดลง แต่ช่วงฝนตกดัชนีลูกน้ำกลับเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ดังนั้น หากประชาชนร่วมกันดูแลบ้านตนเองจะควบคุมทั้งซิกา และไข้เลือดออก ได้ และยังต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัด จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตระหนก หากร่วมกำจัดยุงลายก็ควบคุมโรคได้


“มาตรการที่ทุกคนทำได้และได้ผลดี คือ ร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนซึ่งเป็นฤดูระบาดสูงสุดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ตามมาตรการ 3 เก็บ คือ “เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ” เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ให้ทำอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ รวมถึงการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุข หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์ทันที ที่ผ่านมา มีหญิงตั้งครรภ์ 30 ราย ที่เฝ้าระวัง คลอดแล้ว 6 ราย เด็กทุกรายปกติดี ที่เหลือมีการติดตามดูแลอยู่” นพ.โสภณ กล่าว


ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้ซิกา ว่าขณะนี้ไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนกจากข่าว แต่อยากให้หันมาร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรค โดยไข้ซิกา ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนที่ต้องเฝ้าระวังเพราะต้องการเน้นการดูแลในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความพิการในทารกแรกเกิด ศีรษะเล็ก กล้ามเนื้ออ่อนแรง


รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า สำหรับใน กทม.ภายหลังมีรายงานเข้ามา ก็ไม่อยากให้ตระหนกหรือวิตก ว่าโรคนี้เข้าไทยแล้ว อย่าระแวงคนที่มาจากต่างประเทศ ต้องเข้าใจก่อนว่า โรคนี้ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง แต่มีคนตั้งครรภ์ที่ต้องเฝ้าระวัง 30 คน ซึ่งมีสูตินรีแพทย์ดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด ส่วนในหญิงตั้งครรภ์ 6 คน ก่อนหน้านี้ เด็กทารกที่คลอดออกมาก็ปกติดี


นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันไข้ซิกา ถือเป็นโรคประจำถิ่น มีมาตั้งแต่ปี 2555 มียุงลายเป็นพาหะ ฉะนั้นอย่างตระหนกหรือโทษประเทศเพื่อนบ้าน หากโทษกันไปมา คนจะไม่กล้าเดินทางไปไหน ควรเร่งหันมาร่วมกันกำจัดลุกน้ำยุงลายมากกว่า


ทางด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิก้าเข้ามาระบาดในกรุงเทพฯและมีผู้ติดเชื้อหลายรายกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ โดยพบมากที่สุดที่เขตสาทรนั้น รัฐบาลขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าว เพราะไวรัสซิก้าไม่ได้น่ากลัวหรืออันตรายถึงชีวิต ขณะนี้พบผู้ป่วย 20รายเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยทุกรายอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด แม้บางรายจะเดินทางกลับไปต่างจังหวัดแล้ว แต่สำนักอนามัย กทม.ได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ให้ช่วยติดตามอาการและแนะนำให้พักผ่อนอยู่กับบ้านในช่วงที่ป่วย นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ 1 ราย และปัจจุบันคลอดแล้ว พบว่า ทารกมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่พบความผิดปกติ แต่ต้องติดตามผลการตรวจเลือดอีกระยะหนึ่ง


พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับไปยังกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และหน่วยงานสาธารณสุขระดับท้องถิ่น ให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค และเร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของไวรัสซิก้า และการป้องกันโรคที่ถูกต้องแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้ระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่อาจสร้างความแตกตื่นในสังคมด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code