เร่งรัดฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้แก่กลุ่มเสี่ยง
กรมควบคุมโรค ขอให้กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่มารับบริการฉีดวัคซีนก่อน 30 กันยายน 2556 ขณะนี้มีผู้มารับบริการวัคซีนประมาณ 1.9 ล้านราย จากเป้าหมาย 3.5 ล้านราย
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวรณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยวัคซีนให้แก่ประชาชน 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน -2 ปี และผู้ป่วยทุกอายุ ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ โรคปอด ปอดอุดกั้น หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด นอกจากนี้ ยังมีนโยบายให้วัคซีนแก่บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น ผู้ที่ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย ผู้ที่มีหน้าที่กำจัดซากสัตว์ปีก เป็นต้น โดยได้จัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ไว้บริการแก่กลุ่มดังกล่าว จำนวน 3.5 ล้านราย และได้เริ่มทยอยให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม–30 กันยายน 2556
ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยนั้น แต่ละปีจะมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน สำหรับปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ ไว้บริการให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ สายพันธุ์เอ เอช 1 เอ็น 1 (h1n1) ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 (h3n2) และชนิดบี (b) หลังฉีดวัคซีนดังกล่าวจะมีผลป้องกันโรคได้ 1 ปี หรืออาจเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้แต่อาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามถ้าผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ก็อาจไม่เป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรงได้เช่นกัน ตรงกันข้ามผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการป่วยรุนแรงจากโรคแทรกซ้อนได้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ประมาณการผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรงไว้ 3.5 ล้านคนและเตรียมวัคซีนไว้เพียงพอ แต่ขณะนี้มีจำนวนผู้มารับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม ถึง 22 สิงหาคม 2556 จำนวนประมาณ 1.9 ล้านราย ได้แก่ ผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุที่มีโรคเรื้อรังประมาณ 1.1 ล้านราย บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณ 5 แสนราย ที่เหลือเป็นหญิงมีครรภ์ บุคคลโรคอ้วน ผู้พิการทางสมอง ผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กอายุ 6 เดือน- 2 ปี
อย่างไรก็ตาม การให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2556 จึงขอให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวไปรับบริการฟรี ได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกเว้นเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ที่มีประวัติแพ้ไก่หรือไข่ไก่อย่างรุนแรง เพราะวัคซีนผลิตในไข่ไก่ ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง ผู้ที่มีไข้หรือเจ็บป่วยเฉียบพลันหรือโรคประจำตัวกำเริบ ควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน หลังการฉีดวัคซีนไม่ควรรีบกลับบ้าน ควรรอเฝ้าสังเกตอาการข้างเคียงในสถานพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที หากมีอาการข้างเคียง ซึ่งจะปรากฏภายใน 2–3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง หลังฉีด เช่น หายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดัง ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะต้องแจ้งแพทย์ทันที
ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนสามารถป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้โดย 1.ล้างมือบ่อยๆหลีกเลี่ยงการเอามือขยี้ต่ำหรือจับของเข้าปาก รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ 2.อย่าใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ แปรงสีฟัน เป็นต้น สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยควรแช่น้ำยาฆ่าเชื้อก่อนซักหรือต้มในน้ำเดือน ตากให้แห้ง 3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่นขณะป่วยและควรนอนพักรักษาตัวที่บ้าน 4.สวมหน้ากากอนามัยหรือที่ปิดจมูกเวลาไอจาม 5.รักษาร่างกายให้อบอุ่นเสมอในช่วงอากาศหนาวเย็น 6.หากมีอาการไข้หวัดที่ไม่มีอาการแทรกซ้อนสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ ส่วนใหญ่อาการจะหายภายใน 3–5 วัน โดยการนอนพักผ่อนให้มาก ดื่มน้ำมากๆ หรือน้ำผลไม้ น้ำซุป หรืออาจใช้นำเกลือแร่ร่วมด้วย ไม่ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียวเพราะอาจทำให้ขาดเกลือแร่ เมื่อไข้สูงห้ามอาบน้ำเย็นให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากมีอาการปวดศีรษะ ให้กินยาพาราเซตามอน ในผู้ใหญ่กินครั้งละ 1–2 เม็ด (500 มิลิลกรัม) วันละ 2–3 ครั้ง ยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องใช้
เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อไวรัสจะส่งผลให้มีโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทั้งนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หากมีอาการหอบหรือแน่นหน้าอกให้พบแพทย์ทันที่ หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ โทร 1422 และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค โทร 02 590 3333
ที่มา : กลุ่มประชาสัมพันธ์และข่าว กรมควบคุมโรค