เร่งฟื้นฟูสภาพจิตใจ เหยื่อแผ่นดินไหว

          กรมสุขภาพจิต เผย ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวสุขภาพจิตดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด 111 ราย ในจำนวนนี้เสี่ยงฆ่าตัวตาย 1 ราย แนะชุมชนเข้มแข็ง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ผ่านวิกฤติได้ 


/data/content/24471/cms/e_achijnqsv259.jpg


           นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงผลการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูทางจิตใจผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวพื้นที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย พบว่าประชาชนบางส่วนยังมีอาการผวา ตกใจง่าย กลางคืนนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท คิดมาก วิตกกังวล และบางรายมีอารมณ์เศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ และยังพบว่ามีประชาชนเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง 111 ราย แบ่งเป็นผู้ที่มีความเครียดสูง 28 ราย ซึมเศร้า 60 ราย และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 1 ราย เบื้องต้นได้ให้ยาทางกายแก่ผู้รับบริการ จำนวน 16 ราย และยาทางจิตกับผู้ป่วยใหม่ จำนวน 79 ราย ทั้งนี้ การฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยที่เร็วที่สุดคือ ต้องอาศัยความเข้มแข็งของชุมชน เน้นการเปลี่ยนสภาวะเหยื่อจากภัยพิบัติมาเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติ เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ประสบภัย ไม่รอความช่วยเหลือจากนอก วิธีนี้จะทำให้ผู้ประสบภัยรู้สึกมีคุณค่า และไม่จมอยู่แต่กับความสูญเสีย


          ทั้งนี้ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ทำให้ได้เห็นความเข้มแข็งของชุมชนหลายๆ ชุมชนที่สามารถรวมตัว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ เช่น อาหาร น้ำ ที่นอน ตลอดจน วางแผนซ่อมและสร้างบ้านด้วยตนเอง โดยสร้างเรียงลำดับกันเองทีละหลัง และเป็นการรวมตัวกันโดยไม่มีแกนนำ แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ไม่รอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก โดยเฉพาะหมู่บ้านห้วยส้านยาว อ.แม่ลาว ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด แต่สามารถ/data/content/24471/cms/e_ahknsvxz2358.jpgรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาได้โดยไม่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตรงนี้ทำให้พบว่าประชาชนในพื้นที่เหล่านี้จะมีสภาพจิตใจที่ฟื้นฟูดีขึ้นอย่างรวดเร็ว


          ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขอให้ประชาชนพยายามดูแลรักษาสุขภาพกายใจให้แข็งแรง ไม่ควรปล่อยให้ความไม่สบายใจมาครอบงำ ร่วมกันรับประทานอาหารตรงเวลา ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ใช้ศาสนาทำจิตใจให้สงบ พูดคุยระบายความทุกข์ หรือใช้วิธีผ่อนคลายความเครียด ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ และใช้ศักยภาพของตนเองที่มีอยู่ช่วยเหลือเพื่อนในชุมชน


          ส่วนผู้ที่ยังมีอาการตื่นตระหนก หวาดกลัว วิตกกังวล เครียด บางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า โกรธ อ่อนเพลีย ใจสั่นนั้น อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น และหายไปภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์-1 เดือน แต่ถ้าเวลาผ่านไปแล้วยังไม่ดีขึ้นควรพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยเร็ว หรือปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code