เร่งพัฒนาโมเดล “การสร้างจิตสำนึกเพื่อสังคม”
ที่มา: กรมสุขภาพจิต
แฟ้มภาพ
กรมสุขภาพจิต เร่งพัฒนาโมเดล “การสร้างจิตสำนึกเพื่อสังคม” มอบแนวทางให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งค้นหาบุคคลต้นแบบ เพื่อศึกษาปัจจัยเชิงลึกที่ทำให้คนคนหนึ่งมีจิตสำนึกเพื่อสังคม แล้วนำผลการศึกษามาขยายผล หวังสร้างคุณลักษณะเด็กไทย 4.0 “มีสติปัญญาดี มีความคิดสร้างสรรค์ คิดบวก และมีจิตสำนึกเพื่อสังคม”
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิต ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเยาวชนไทย 4.0 ให้มีคุณลักษณะสำคัญคือ มีสติปัญญาดี มีความคิดสร้างสรรค์ คิดบวก และมีจิตสำนึกเพื่อสังคม ( Creation , Positive , Response to Society=CPR ) โดยมีคำขวัญคือ “ เยาวชนไทย คิดดี คิดให้ คิดเป็น เป็นสุข” ทั้งนี้ด้านการพัฒนาสติปัญญา กรมสุขภาพจิตได้พัฒนา แนวทางดำเนินงาน และเทคโนโลยีมาโดยต่อเนื่อง ล่าสุดมีการวิจัยพัฒนาแบบวัดสติปัญญาหรือไอคิว (Intelligent Quotient : IQ) เวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ บุคลากรที่เกี่ยวข้องจะสามารถคัดกรองเด็กให้ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างรวดเร็วขึ้น ด้านการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และการฝึกคิดบวก มีต้นทุนแนวทางการพัฒนาที่หลากหลาย ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะได้รวบรวม และสังเคราะห์นำมาใช้ ให้เหมาะสมต่อการพัฒนาเด็กแต่ละกลุ่ม แต่องค์ความรู้ที่ต้องเร่งศึกษา คือ การสร้างจิตสำนึกเพื่อสังคม (Response to Society ) จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด กรมสุขภาพจิต กว่า 30 แห่งทั่วประเทศ เร่งศึกษา วิจัย เพื่อสร้าง โมเดลพัฒนาเรื่องนี้ โดยให้ค้นหา และศึกษาเชิงลึก จากบุคคลต้นแบบด้านต่างๆ เช่น คนที่เสียสละเก็บขยะในพื้นที่สาธารณะทุกวัน คนที่เป็นจิตอาสาด้านต่างๆต่อเนื่องโดยไม่มีค่าตอบแทน ฯลฯ โดยอาจต้องศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เล็กจนโต รวมถึงปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งคาดว่าภายใน 6 เดือน จะมีการนำเสนอบางโมเดลให้พิจารณาเพื่อการขยายผลได้ ทั้งนี้ในภาพรวมสังคมไทยบางครั้งยังเห็นปัญหาเชิงพฤติกรรมที่สะท้อนถึงการขาดจิตสำนึกเพื่อสังคม ซึ่งกรมสุขภาพจิต เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องเร่งพัฒนา เพื่อสร้างความผาสุก(Well-being) ให้เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและสังคม