เร่งพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทยให้ครบวงจร
ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
สาธารณสุขทำแผนปฏิบัติการ แผนไทยเฟิร์ส ใช้กลไก 3 อาร์ ให้ประชาชน รู้จัก เชื่อมั่น ชอบและใช้การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยดูแลสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรีและมอบแนวทางการดำเนินงาน ว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้มีการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดยารักษาโรค เน้นการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ให้ประชาชนไทยใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการเกษตรเพาะปลูกสมุนไพรในแต่ละชุมชน ช่วยกระจายโอกาสและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
กระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่เป็นแกนนำการพัฒนาสมุนไพรไทยได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้บริการการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรโดยใช้ 3 มาตรการ คือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เกิด หมอดี พัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรเพื่อสร้างยาดี และพัฒนาคุณภาพสร้างบริการดี โดยในปี 2561 จะจัดทำแผนปฏิบัติการแผนไทยเฟิร์ส พัฒนาสมุนไพรให้คนไทยรู้จัก เชื่อมั่น ชอบ และใช้ บริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก และผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยใช้กลไก 3อาร์ เอ็นจิ้น(3R Engine) ได้แก่ 1.รีแบรนด์ดิ้ง(Re-Branding) โดยเร่งสร้างค่านิยม แผนไทยเฟิร์ส เพิ่มการเข้าถึงสมุนไพร 3 ต. สร้างผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือวัฒนธรรมพื้นบ้านให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาเมืองสมุนไพรเชื่อมโยงการท่องเที่ยว
2.รีแอสชัวแรนส์(Re-Assurance) โดยบูรณาการการแพทย์แผนไทยร่วมกับคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) พัฒนาคุณภาพมาตรฐานและขยายความครอบคลุมการจัดบริการ พัฒนาระบบการรับรองคุณภาพสมุนไพร ตลอดจนรับรองหมอพื้นบ้านหรือวิธีการรักษาทางการแพทย์พื้นบ้านที่ปลอดภัยกับประชาชน 3.รีเสิร์ชแอนด์อินโนเวชั่น (Research & Innovation) พัฒนาและเชื่อมโยงระบบข้อมูล การวิจัย นวัตกรรมด้านการแพทย์แผนไทยฯและสมุนไพร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในระบบสุขภาพ ส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างครบวงจร รวมถึงสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี
ทั้งนี้จากข้อมูลเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 มีมีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการการแพทย์แผนไทยฯ จำนวน 32,444,810 ครั้งจากผู้ป่วยนอกทั้งหมด 164,259,449 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 19.75 และมีการใช้ยาสมุนไพรเพิ่ม 406 ล้านบาทจาก 1,723.69 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 2,129.96 ล้านบาท ในปี 2560