เร่งพัฒนาบุคลากรเด็ก
มุ่งแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี
นอกจาก องค์กรที่มีบทบาทในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้มีสุขภาวะที่ดี หลุดพ้นจากสังคมที่เลวร้าย ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ใครจะรู้ว่า ยังมี “สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว” ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่มุ่งสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องดังกล่าวอย่างถูกวิธี เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาและเยียวยาแก่สาธารณะต่อไป
สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถาบันเป็นแหล่งวิชาการทางด้านเด็กและครอบครัวที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา
โดยดำริตั้งแต่สมัย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากเดินทางไปทุกเวทีทั่วโลก และทราบว่าทุกแห่งมีสถาบันทางด้านวิชาการพัฒนาเด็กและครอบครัว ต่อมาจึงนำแนวคิดกลับมาดำเนินการในประเทศ และคิดว่าจะทำได้อย่างไร จึงจะจัดตั้งหน่วยงานลักษณะดังกล่าวได้จริง จึงได้ลงมือปฏิบัติการ แต่ทำให้เป็นรูปธรรมต่อมาในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ พร้อมทั้ง ทำการสอบถามไปยังมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ว่าจะสามารถเป็นผู้นำในการจัดตั้งสถาบันได้ จนมาพบมหาวิทยาลัยมหิดล และได้ตั้งสถาบันขึ้นตั้งแต่ปี 2540 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ภารกิจที่ดำเนินการมีอยู่ 3 ด้าน คือ
1. ถ่ายทอดเทคโนโลยีวิชาความรู้ให้แก่ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาพัฒนาการมนุษย์ เป็นแห่งเดียวของประเทศไทย ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปถึงผู้สูงวัยก่อนจะสิ้นชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปฐมวัย วัยเรียน และวัยรุ่น
2. ทำให้เกิดต้นแบบทำงานวิชาการทางด้านเด็กและครอบครัวในหลายมิติ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ที่จะนำร่องช่วยเหลือเยาวชนในระดับประเทศ การทำสื่อสร้างสรรค์ เรื่องจัดเรตติ้งทางทีวี ทางเกม ภาพยนตร์ ยังมีเรื่องครอบครัวจนเกิดสมัชชาครอบครัวหรือสมาคมครอบครัว
3. มีงานวิจัยที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเด็กและครอบครัว เช่น โครงการต้นทุนชีวิตสู่ฐานชุมชนที่เข้มแข็ง ที่นายกฯ มีมติรับเรื่องสู่แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เรื่องโครงการเลี้ยงลูกอย่างสร้างสรรค์ โครงการวิจัยเชิงบวก โครงการลดความรุนแรงผ่านโลกไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น
วิสัยทัศน์ของสถาบัน จะเป็นผู้นำและหลักของประเทศในการพัฒนาผู้ที่ทำงานเด็ก เยาวชนและครอบครัว เพราะเรามีมหาวิทยาลัยมหิดล และมีหลักสูตรมหาบัณฑิตทั้งภาคปกติและพิเศษ ซึ่งกำลังจะมีหลักสูตรระยะสั้นที่เปิดสาขาหลากหลายให้ผู้สนใจมาเลือกเรียนตามความสนใจ
นายแพทย์สุริยเดว กล่าวว่า สำหรับบัณฑิตที่จบหลักสูตรแล้ว สามารถไปทำงานเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเด็ก อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ สถาบันยังสามารถเติมศักยภาพแก่ผู้ที่กำลังทำงานเพื่อเด็ก วันรุ่น และครอบครัว
ขณะนี้ทางสถาบันฯ จึงอาศัยเครือข่ายหรือภาคีของที่ทำงานเชื่อมโยงกับกระทรวงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัว รวมทั้ง กับเชื่อมโยงกับเอ็นจีโอ ส่วนเด็กปฐมวัย เราก็ไปเชื่อมโยงกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ส่วนเรื่องสื่อสารมวลชนไปสู่สังคม ก็เชื่อมโยงกับกระทรวงวัฒนธรรม สำนักนายกฯ นอกจากนี้ ตัวสถาบันยังเชื่อมโยงกับยูนิเซฟ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ
“ในแง่ของเยาวชนที่ทำงานเชื่อมโยงกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในการทำสื่อสร้างสรรค์ คือการจัดเรตติ้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าทางโทรทัศน์ ที่เห็น “น” “ด” “ท” “ป” ที่ได้รับการผลักดันมาจากงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะต่อทีวี เพราะยังส่งผลไปยังเกม หนัง และไปถึงองค์กรผู้บริโภคทางด้านสื่อ มีหลักสูตรที่พัฒนาคนทำงานด้านสื่อที่เกี่ยวข้องกับเด็กและนำไปใช้กับชุมชนได้ด้วย ในขณะที่ สสส. จะทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานงานทำให้เป็นแหล่งทุนย่อยในการทำวิจัยร่วมด้วย” คุณหมอเดว กล่าว
ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาเด็กในหลายช่วงอายุจะแตกต่างกัน แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ “ช่วงวัยรุ่น” หากเป็นผู้หญิงคือ พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ ผลพวงที่ตามมาคือท้องโดยไม่พร้อม และเกิดประเด็นปัญหาตามมาจำนวนมาก หากเป็นเด็กผู้ชายคือ ความรุนแรง นำมาสู่การฆ่ากันตายจำนวนมาก
“จริงๆ ปัญหาพวกนี้ต่อเนื่องมาจากหลายปีที่แล้ว และมาถึงปัจจุบันก็มากขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันบกพร่องจากหลายภาคส่วน เริ่มต้นแต่เด็กเอง คือค่านิยมในการทำความดีมีปัญหา ทักษะในการอยู่รอบในสังคมมีปัญหา มาสู่สิ่งแวดล้อมของเด็กก็มีปัญหา
ครอบครัวมีขนาดเล็กลง อัตราการหย่าร้างของพ่อแม่มีมากขึ้น ทักษะในการเลี้ยงลูกอ่อนแอลง บทบาทของบิดามารดาก็น้อยลง ขณะที่เรื่องของชุมชนก็อ่อนแอ เพราะอยู่กันไม่ปรองดอง ธุระไม่ใช่ เพราะอยู่กันรักษาความเป็นเมืองมากขึ้นตัวใครตัวมัน และกิจกรรมทางศาสนาก็อ่อนแอไปมาก
ในแง่ของกระบวนการสร้างปัญญา ก็มีปัญหาจากสมัยเดิม ที่เด็กมีเวลาทำกิจกรรมเรียนรู้กับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมได้ แต่ปัจจุบันนี้หายไปกลายเป็นเรื่องเร่งลัดเรียน ใช้ระบบแพ้คัดออก ทำให้เด็กกลุ่มเดียวไปถึงเป้าหมายได้ เด็กอีกกลุ่มใหญ่ไม่สามารถไปไหนได้ ก็เลยเป็นมิจฉาชีพไปค้ายาเสพติด ไปทำเรื่องของขายเซ็กซ์”
แนวทางแก้ไขมีบันได 3 ขั้น คือ 1.ให้ใช้แนวคิดเชิงบวก เพราะเป็นเหตุที่จะสังเคราะห์ได้เลยว่าพลังตัวตนของเด็กและครอบครัว โรงเรียน ชุมชนของเขาอ่อนแอ ในเหตุปัญหาเรื่องอะไรจะได้ไปทำให้เกิดกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์ประเด็นนั้น จึงต้องเกิดคณะทำงานเรื่องเด็กและครอบครัวภาคพื้นที่ โดยต้องเกิดในองค์กรส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และประสานให้เกิดเนื้อกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เด็กและครอบครัวสามารถร่วมกิจกรรมได้ 2.ต้องเพิ่มบทวิทยากร โดยถอดบทเรียนเอาไปพัฒนาสู่เด็กโดยตรง
3.จากนั้นจะเกิดระบบพี่เลี้ยงในชุมชน คนที่เล่นบทพี่เลี้ยงจะรู้ว่า ถ้าเด็กมีปัญหาจะส่งต่อไปที่ไหน ระบบเฝ้าระวังในชุมชนจะเป็นอย่างไร วิธีบริหารจัดการเป็นเช่นไร เพื่อให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ในแต่ละครอบครัวและชุมชนจะทำได้อย่างไร พร้อมทั้งดึงกิจกรรมการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนจากทุกภาคส่วนมาร่วมกัน
ส่วนความเห็นสุดท้าย นายแพทย์สุริยเดว ได้เสนอทางออกของปัญหากรณี “ฟิล์ม” และ “แอนนี่ บรู๊ค” ว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของคน 2 คน และเป็นเรื่องส่วนตัว สะท้อนให้เห็นว่า สังคมจะต้องเผยแพร่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ออกสู่สาธารณชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างกันและกัน
ควรลดราวาศอกเรื่องนี้ ไม่ควรขยายผลให้มากกว่านี้และจะชี้ให้เห็นความไม่พร้อมของทั้งคู่ ยังมีเรื่องเพศสัมพันธ์โดยไม่พร้อมอีกด้วย วิธีการในการคุมกำเนิดก็อ่อนแอ เมื่อเจอปัญหาในการจัดการ ก็มีปัญหาร่วมไปด้วย และความเป็นสาธารณะของทั้งคู่มันไม่ควรขยายผลด้วยสื่อมากเกินไป
หากทุกฝ่ายไปหยุดผลกระทบจะเกิดกับส่วนตัวเขาเลย ผลกระทบอื่นที่ตามมาคือ กลุ่มเยาวชน เขากำลังดูเป็นแบบอย่างอยู่แล้ว ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ขณะที่ลูกชายของทั้งคู่ก็จะไม่มีความสุข
“ดีที่สุดต้องผนึกกำลังและให้อภัยซึ่งกันและกัน จะเป็นสิ่งดีที่สุดและประโยชน์สูงสุดจะได้ที่ลูก อยากให้นึกถึงคำว่า “การรวมแรงรวมใจและให้อภัยซึ่งกันและกันมันเป็นอะไรที่งดงามมาก” และการให้อภัยต้องไม่ถูกขยายผลไปที่สื่อเอาไปเล่นในรูปแบบอื่นๆ เพราะผลเสียจะเกิดขึ้นจากลูกและบุคคลเหล่านั้น” ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ระบุ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 04-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน