เร่งปั้น ”1แสนอสม.” ดูแลผู้ป่วยไตเรื้อรังที่บ้าน
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สยามรัฐ
เร่งปั้น ”1แสนอสม.” ดูแลผู้ป่วยไตเรื้อรังที่บ้าน หวังชะลอไตเสื่อมให้นานขึ้นถึง 14 ปี-ลดป่วยรายใหม่
นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า วันที่ 9 มี.ค.60 เป็นวันไตโลก ซึ่งในไทยขณะนี้มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ต้องรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไต เช่น ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ล้างไตทางช่องท้อง 200,000 คน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 10,000 คน ผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายนอกจากจะทุกข์ทรมานแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายล้างไตเฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาทต่อราย สมาคมโรคไตคาดในปีนี้ อาจต้องใช้งบฯดูแลกว่า 17,000 ล้านบาท จึงต้องเร่งป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกลายเป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ในส่วนของกรม สบส.ซึ่งมีบทบาทหลักพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเสริมความเข้มแข็งให้ประชาชนรอบรู้ เข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจในการประพฤติปฏิบัติตนได้ดี ได้ร่วมกับหน่วยงานกรมวิชาการทั้งในและต่างสังกัด เช่น สถาบันไตภูมิราชนครินทร์ สสส. มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน พัฒนาอาสาสมัครประจำครอบครัวหรือ อสค. ซึ่งคัดเลือกมาจากลูกหลานญาติพี่น้องหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรวมถึงเพื่อนบ้านหรือบุคคลที่ครอบครัวไว้วางใจให้มาเป็นผู้ดูแลสุขภาพของครอบครัว มาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยและดูแลสุขภาพเพิ่มเติมร่วมกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อเป็นเครือข่ายสุขภาพในระดับครัวเรือนตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข
ในปีนี้ตั้งเป้าพัฒนา 100,000 คน มุ่งหวังเพื่อชะลอไตเสื่อมให้ได้นานที่สุด นอกจากนี้ ยังอบรมลูกหลานหรือญาติของผู้ป่วยอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียงและผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงรวมอีก 400,000 คนซึ่งจะช่วยป้องกันผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ด้วย เนื่องจากทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุเกิดไตวายที่พบบ่อยในรายที่ควบคุมอาการไม่ดี