เร่งทำฉลาก “ทางเลือกสุขภาพ” เพื่อผู้บริโภค

ที่มา: MGR Online 


ภาพประกอบจากMGR Online 


เร่งทำฉลาก


อย.เร่งทำฉลากโลโก้อาหาร "ทางเลือกสุขภาพ" ช่วยผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ง่ายขึ้น ไม่ต้องคำนวณไขมัน น้ำตาล โซเดียมเอง เผยมีผู้ประกอบการผ่านการรับรองฉลากแล้ว 10 บริษัท 30 ผลิตภัณฑ์ หนุนมาตรการรีดภาษีเครื่องดื่มน้ำตาล เตรียมหารือสรรพสามิต 24 พ.ค.นี้


วันที่ 19 พ.ค. ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุขเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมหารือแนวทางและแผนการประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์โภชนาการ (HealthierLogo) ซึ่งจัดทำโดย อย. ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศฯ (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2559 เรื่องการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหารเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการ(Healthier Logo) เป็นโลโก้ที่ระบุว่า "ทางเลือกสุขภาพ" ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหาร และการป้องกันปัญหาภาวะโภชนาการเกินและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรคเอ็นซีดี โดยโลโก้ดังกล่าวจะแตกต่างจากตรา อย. ซึ่งเป็นกฎหมายบังคับ แต่โลโก้ "ทางเลือกสุขภาพ" เป็นเรื่องของความสมัครใจ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่ามีความตระหนักในเรื่องสุขภาพของผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน


นพ.บุญชัย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่จะขอโลโก้ดังกล่าวจะต้องเข้าเกณฑ์เงื่อนไข ซึ่งจะมุ่งเน้นลดหวาน มัน เค็ม เพื่อไม่ให้เกิดโรคเอ็นซีดี โดยจะการกำหนดปริมาณตามหลักโภชนาการ เบื้องต้นมีผู้ประกอบการสนใจยื่นขอโลโก้และผ่านการรับรองจนได้ฉลากโลโก้ดังกล่าวแล้วจำนวน 10 บริษัท รวม 30 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.อาหารมื้อหลัก 2.เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำผักและน้ำผลไม้ น้ำอัดลมและน้ำหวานกลิ่นรสต่างๆ น้ำนม ถั่วเหลือง น้ำธัญพืช และ 3.เครื่องปรุงรส ได้แก่ น้ำปลา และซีอิ้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำฉลากโลโก้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการน้อยรายที่สนใจเข้ามายื่นฉลาก ดังนั้น หากสนใจสามารถติดต่อได้ที่ อย. หรือมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ


เร่งทำฉลาก "เมื่อมีโลโก้นี้จะทำให้สะดวกในการเลือกซื้อมากขึ้น เพราะไม่ต้องมาพิจารณาฉลากโภชนาการ และมาคำนวณเองว่า อาหารชนิดนี้มีไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมาค่อนข้างยุ่งยากสำหรับผู้บริโภค แต่ฉลากนี้จะทำให้เลือกซื้อง่ายขึ้น เพราะสกรีนมาแล้วเบื้องต้นและรับรองแล้วว่า เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งในต่างประเทศก็มีการใช้ฉลากนี้มานานแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังจากผู้ประกอบการได้รับฉลาก และติดบนผลิตภัณฑ์ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้" นพ.บุญชัย กล่าว


รศ.วิสิฐ จะวะสิต ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับเงื่อนไขในการรับรองฉลากโลโก้ "ทางเลือกสุขภาพ" จะพิจารณาเรื่องของการลดน้ำตาล โซเดียม และไขมันเป็นหลัก โดยแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับแต่ละผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่าง นมต้องไม่มีน้ำตาล แต่หากมีน้ำตาลผสมต้องไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร หรือเครื่องปรุงรส อาทิ น้ำปลา ซีอิ้ว ต้องมีโซเดียมลดลงร้อยละ 30 ขณะที่ไขมันแล้วแต่ผลิตภัณฑ์เช่นกัน แต่หากเป็นเครื่องดื่มประเภทนม จะต้องมีไขมันผสมไม่เกินร้อยละ 3.5


ผู้สื่อข่าวถามถึงการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล นพ.บุญชัย กล่าวว่า หากเครื่องดื่มใส่น้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากใส่เกินจากนี้ก็จะเสียภาษีตามอัตราที่กำหนด ซึ่ง อย.สนับสนุนมาตรการขึ้นภาษีนี้ เพราะเป็นแนวทางหนึ่งในการลดบริโภคน้ำตาล แต่ต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่นและให้ความรู้ประชาชนด้วย เพราะคนไทยบริโภคหวานมาก โดยจากข้อมูลเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพบว่า คนไทยบริโภคหวานมากที่สุดในอาเซียน คือ ร้อยละ 12-14 ทั้งที่ในยุโรปบริโภคอยู่ร้อยละ 8 ซึ่งโดยหลักแล้วไม่ควรบริโภคเกินร้อยละ 6 ต่อวัน ดังนั้น หากจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลของคนไทย คือไม่ควรเกินร้อยละ 10 ต่อวัน อย่างไรก็ตาม วันที่ 24 พ.ค.นี้ กรมสรรพสามิตจะมาหารือร่วมกับ อย.เรื่องคำนิยามของเครื่องดื่ม ทั้งแบบคั้นสด บรรจุขวด ชา และกาแฟ ว่าควรใช้คำนิยามอย่างไร เนื่องจากหมวดเครื่องดื่มมีความกว้างมาก ทั้งนี้ หากผ่านพ้นเรื่องการพิจารณาภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม ก็เตรียมที่จะหารือเพื่อคุมการชิงโชคของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ ทั้งชาเขียวและกาแฟที่มาการโหมโฆษณา โดยมูลค่าของรางวัลที่ได้ไม่ควรเกิน 100 เท่าของสินค้า

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ