“เรไร – ธันย์” นิยามแห่งความสุขที่ไม่มีวันหมด
เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ว่ากันว่า…เวลาที่เราไม่มีความสุข มักจะหนีจากสถานที่อยู่ในปัจจุบัน เพื่อออกเดินทางเติมเต็มความสุขที่หายไปในสถานที่ที่ไกลออกไป หรือบางคนอาจหนีความทุกข์ใจที่เจอ มาใช้เวลากับตัวเองเงียบๆ เพียงลำพัง เพื่อเฝ้ารอความสุขให้กลับมาหาเราอีก
หากเราเข้าใจ “ความสุข” เราจะพบว่า มันนั้นไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกลตัวจากเราเลย ดังเช่นที่ พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี เขียนในหนังสือความสุขในกำมือ ว่า “เเท้จริงเเล้ว ความสุขเป็นดังเป้ที่เราเเบกอยู่บนหลังของตัวเอง มันอยู่ตรงนั้นอยู่เเล้ว ขอเพียงเราให้ความใส่ใจอย่างลึกซึ้ง ความสุขก็พร้อมจะผลิบานให้เราได้ชื่นชม”
– 1 –
คล้ายๆ กับที่ นางชนิดา สุวีรานนท์ คุณแม่ของ ด.ญ.เรไร สุวีรานนท์ หรือน้องต้นหลิว เจ้าของเพจเรไรรายวัน ที่มีคนติดตามมากกว่า 2 แสนคน เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนให้น้องต้นหลิวเขียนบันทึกรายวันด้วยเงื่อนไขของการเขียนเรื่องราวของ “ความสุข” ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2558 คุณแม่ชนิดา เริ่มโพสภาพลายมือบันทึกประจำวันของน้องต้นหลิวไว้ในเพจเฟสบุ๊ก
“การเขียนเหมือนกับการเล่นอย่างหนึ่งของลูกช่วงแรกในครอบครัวก็ผลัดกันอ่านบันทึกน้องต้นหลิว และต่อมาก็พัฒนามาลงในเพจเรไรรายวัน ซึ่งแม่ทำความเข้าใจกับลูกตั้งแต่ต้นว่า บันทึกกนี้คือความสุขที่จะเก็บเรื่องราวแต่ละวันเอาไว้ เหมือนกล้องที่แม่ให้และมีฟิลม์แค่ใบเดียว ให้ลูกเลือกถ่ายว่าวันนี้จะเลือกอะไรเพื่อเก็บไว้เป็นตัวหนังสือ”
“เวลาหนูเขียนบันทึก หนูจะรู้สึกมีความสุขค่ะ เพราะในแต่ละวันหนูก็มีเรื่องที่สนุกๆ บางทีเวลาที่หนูกำลังเล่นอยู่ หนูก็ไม่รู้ว่ามีความสุขเยอะขนาดไหน แต่พอมานั่งเขียนก็ทำให้หนูนึกได้ว่าตอนนั้นหนูมีความสุขขนาดไหน” น้องต้นหลิวเล่าให้ฟัง เมื่อถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรเวลาเขียนบันทึก
น้องต้นหลิว มีความรู้สึกที่ไม่ได้ต่างจากเด็กทั่วไป คือ มีทั้งความสุข และความทุกข์ตามวัยที่เขาพบเจอ แต่สิ่งที่ทำให้เขาออกจากความทุกข์ได้ คือการคุยกับคุณตาคุณยาย เล่นกับน้องแฝด (น้องก้อนเมฆ และน้องสายลม) และเล่นเปียนโน นางชนิดา เล่าวิธีการคลายความทุกข์ของเด็กหญิงวัยเพียง 9 ขวบ และเล่าถึงความสุขของครอบครัวที่เกิดขึ้นว่า
“ครอบครัวมีหลายเจนเนอเรชั่น ทั้งคุณตา คุณยาย พ่อ แม่ ต้นหลิว และน้องแฝดอายุ 3 ขวบ ทำให้การมีกิจกรรมร่วมกันนั้นยาก แต่เมื่อมีเพจเรไรรายวัน ทำให้ทุกคนร่วมกันอ่านและเป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน สอดคล้องกัน บรรยากาศในครอบครัวมีความสุขมากขึ้น เมื่อก่อนแม่เชื่อว่าความสุข คือการไม่อยู่นิ่ง ทำให้เราคิดอะไรใหม่ๆ เสมอ แต่จากการใกล้ชิดลูก พบว่า เพียงแค่ใกล้คุณพ่อกับคุณแม่ที่ส่งรัศมีความสุขนั้นไปให้ลูก แม้จะต้องอยู่ในสถานที่ซ้ำๆ กัน ลูกก็จะมีความสุข”
“ความสุขที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องไกลตัว อยู่รอบๆ ตัวเรานั่นเอง” เป็นนิยามที่คุณแม่น้องต้นหลิว ผู้เป็นต้นแบบที่ดีกับลูก นิยามเอาไว้แบบนั้น และบอกเราเพิ่มเติมว่า “ความสุข” คือสิ่งที่เป็นอยู่ ที่มีอยู่ คือความจริงในปัจจุบัน
แม้ว่าความทุกข์จะเข้ามาทักทายกับชีวิต นางชนิดา ยังให้มุมมองที่สวยงามในการคิดถึงความสุขว่า “เมื่อใครๆ ก็ตามที่เจอกับความทุกข์ แม่อยากบอกว่า เขาไม่ใช่คนแรกที่ไม่มีความสุข แต่ถ้าเขารู้สึกตัวแล้ว ให้นำพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นให้เร็วที่สุด ความสุขอาจจะไม่ได้เดินเข้ามาหาเราเสมอไป บางครั้งเราอาจจะต้องพาตัวเองออกไปพบกับความสุขที่อยู่ใกล้ๆ ตัว”
– 2 –
ถ้าเราลองหลับตาแล้วจินตนาการถึงการหายไปของขาทั้งสองข้างในวัยเพียงแค่ 14 ปี เราจะรู้สึกกันอย่างไรบ้าง? แต่สำหรับน้องธันย์ น.ส.ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ที่แม้ว่าเวลาจะผ่านมา 6 ปีหลังจากสูญเสียขาทั้งสองข้างจากอุบัติเหตุรถไฟฟ้าทับที่ประเทศสิงคโปร์ในช่วงกลางปี 2554 ก็ไม่ได้ทำให้สาวน้อยยิ้มสวยคนนี้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตลดน้อยลงเลย กลับทำให้การชีวิตนับจากวันนั้นเต็มไปด้วยกำลังใจและแรงใจอย่างท่วมท้น และล้นออกไปยังคนรอบข้าง สำหรับอาชีพปัจจุบัน นอกจากเป็นนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วนั้น เธอยังมีอาชีพเป็น ผู้สำรวจความสุขคนไข้ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่น้องธันย์พักรักษาตัวหลังจากสุญเสียขาทั้ง 2 ข้างไปตลอดกาล เธอบอกว่า “เห็นคนที่มาเยี่ยมตนแล้วก็สงสัยว่าทำไมเขาเหล่านั้นต้องเศร้า และมีสีหน้าเป็นทุกข์ใจขนาดนั้น เราอยากให้คนที่มาเยี่ยมได้รอยยิ้มกลับไป จึงเลือกที่จะส่งความสุขให้กับคนที่มาเยี่ยมในแต่ละวัน”
ด้วยวิธีการสอนของคุณพ่อคุณแม่ที่หล่อหลอมเธอมาด้วยทัศนคติที่ให้มองชีวิตรอบด้าน และมุมมองการคิดแนวบวก ทำให้น้องธันย์ไม่กังวลกับอนาคตตัวเอง เมื่อต้องดำเนินชีวิตอยู่บนขาเทียมทั้ง 2 ข้าง แต่กลับใช้ชีวิตแบบมีความสุข
สำหรับอาชีพผู้สำรวจความสุขคนไข้ในระยะเวลา 6 เดือน ณ ขณะนี้เธอได้ทำมาแล้วประมาณ 4 เดือน และพบว่า พลังบวกที่เธอส่งไปให้คนไข้ในแต่ละวันกลับทำให้เธอได้พลังเหล่านั้นกลับคืนมาอีก และใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง
“อาชีพผู้สำรวจคนไข้นั้นทำหน้าที่ รับฟังความสุขของคนไข้ที่ได้รับจากการมาพักรักษาตัว และนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงการบริการ ให้คนไข้มีความสุขมากที่สุด รวมถึงการใช้พูดเสริมพลังบวกและให้กำลังใจคนไข้ซึ่งถือว่าเป็นความสุขทางใจที่เกิดขึ้นสำหรับตัวเรา”
"ความสุขของเราคือความเป็นจริง" นิยามความสุขในแบบน้องธันย์ และเธอยังอธิบายต่อว่า ความสุขขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเรา เรายังคงเป็นมนุษย์ที่มีทุกๆ ความรู้สึก แน่นอนว่าจะต้องมีความทุกข์เข้ามาเยือนในชีวิต แต่ให้เรามองทุกวันด้วยความเป็นจริง มองเรื่องง่ายๆ ให้มีความสุขและเป็นสีสันให้กับชีวิต เมื่อเราเปลี่ยนจุดโฟกัสให้ชีวิต เราจะพบความสุขในรูปแบบของตัวเอง โดยไม่ต้องไปเกาะเกี่ยวกับความคาดหวังของใครๆ
– 3 –
หากมองกันให้ลึกลงไปแล้ว “ความสุข” คือ โลก 3 ใบที่ทับซ้อนกัน คือ โลกของตัวเอง ครอบครัว และสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ความสุขประกอบไปด้วย 8 มิติ ที่เรียกว่า ความสุขทั้ง 8 ประการ หรือ Happy 8 วิถีสร้างสุขเพื่อตัวเองและคนรอบข้าง ประกอบไปด้วย 1.Happy Body เป็นผู้มีสุขภาพดี 2.Happy Heart เป็นผู้มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น 3.Happy Society เป็นผู้ที่รักและดูแลองค์กร สังคมของตนเองได้ 4.Happy Relax เป็นผู้ที่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ 5.Happy Brain เป็นผู้รักการเรียนรู้และมืออาชีพในงาน 6.Happy Soul เป็นผู้มีคุณธรรมและความกตัญญู 7.Happy Money เป็นผู้ใช้เงินเป็น 8.Happy Family เป็นผู้ที่รักและดูแลครอบครัวตนเองได้
ความสุขทั้ง 8 ด้านนี้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ได้นำมาจัดเป็นนิทรรศการหมุนเวียนที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ ศึกษา ภายใต้แนวคิด “Happy 8 นิทรรศการความสุขไม่รู้จบ” ด้วยการนำเสนอผ่านทั้งตัวหนังสือ ภาพถ่าย การจำลองเหตุการณ์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 21 เมษายน 2561 โดยเปิดให้บริการวันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 10.00 – 17.00 น. ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ชั้น 2 สอบถามเพิ่มเติมที่ 093-124-6914 หรืออีเมล์ [email protected]
หากใครที่ยังตามหาความสุขอยู่ ลองหลับตาลงและทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันที่ผ่านไป เราอาจจะพบว่าความสุขอยู่เพียงแค่ปลายจมูกเรานี่เอง