เรื่องเล่า..งานพิเศษทำให้กลายเป็น ผู้ต้องหา

ที่มา :  คมชัดลึก


ภาพประกอบจาก สสส.


เรื่องเล่า..งานพิเศษทำให้กลายเป็น  ผู้ต้องหา thaihealth


ประสบการณ์ของมนุษย์ทำให้เกิดการเรียนรู้ ถือเป็นความรู้อีกชุดหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น เรื่องเล่าต่อไปนี้จะเตือนสตินักเรียนนักศึกษาทุกคนในการคบหาสมาคมกับเพื่อน มีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน การจับจ่ายใช้สอย ไม่เห่อตามแฟชั่น หรือเรียนรู้ที่จะมีชีวิตที่พอดีสมกับฐานะของตัวเอง ไม่เป็นเหยื่อของการโฆษณาจนทำให้ตัวเองต้องใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไม่จำเป็น


ใครจะนึกว่าเด็กสาววัย 21 ปี ที่เตรียมตัวจะฝึกงานในบริษัทหรือหน่วยงานที่เหมาะสมกับสาขาวิชาที่ตัวเองได้เรียนมา นั่นคือ การจัดการโลจิสติกส์ จะถูกจับในข้อหา พ.ร.บ.ยาเสพติด แม้กระทั่งตัวเธอเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า สิ่งที่คิดว่าดีโดยเลือกใช้เวลาเหลือจากการเรียนมาทำงานพิเศษ เพื่อจะได้มีเงินเพิ่มเติมจากที่ขอจากแม่ จะทำให้ชีวิตพลิกผัน


ผึ้ง คือนามสมมติ ผู้ต้องขังอยู่ที่เรือนจำกลาง อุบลราชธานี จากครอบครัวฐานะปานกลาง เมื่อหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต แม่ซึ่งมีอาชีพเป็นข้าราชการครู ต้องรับภาระดูแลความเป็นอยู่ภายในบ้าน ไม่ว่าจะค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และค่าใช้จ่าย  ซึ่งถ้าผึ้งรู้และเข้าใจความเป็นอยู่ของครอบครัวที่เปลี่ยนไป ก็คงไม่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำอย่างนี้


"ความเป็นผู้หญิงที่ชอบแต่งตัวรักสวยรักงาม และเป็นคนอ้วนน้ำหนักมาก น้ำหนัก 98 กิโลกรัม ตอนนั้นก็อยากลดน้ำหนักมาก กินอาหารคลีนอะไรที่มีคนบอกว่าดีก็จะซื้อมากินเพื่อสนองความต้องการที่จะลดน้ำหนัก ไปซื้อคอร์สออกกำลังกายที่ฟิตเนส เมื่อขอเงินแม่เพิ่มแม่ก็ให้เราได้ไม่มาก ทุกอย่างมันจำกัดแบบพอดิบพอดี ด้วยความไม่เข้าใจ ทำให้เราหงุดหงิดและตั้งใจว่าจะไม่ขอเงินแม่อีก หาเงินเองก็ได้"


ผึ้งย้อนเรื่องราวอดีตให้ฟัง


จากนั้น ผึ้งก็เริ่มสังเกตเพื่อนที่เรียนในคณะเดียวกัน มีเวลามาเรียนและมีเวลาไปทำงาน แถมมีเงินใช้โดยไม่ต้องขอทางบ้าน เลยถามเพื่อนว่าทำงานอะไร ทำไมมีเงินใช้แบบไม่ขาดมือ เพื่อนเลยบอกว่าถ้าอยากทำงานให้เอาพัสดุไปส่งไปรษณีย์จะให้ค่าจ้างวันละ 1,000-2,000 บาท


ผึ้งทำงานส่งพัสดุไปที่ไปรษณีย์อยู่ได้ 4 ครั้ง ยังไม่ถึงเดือนก็ถูกจับ


"คือไม่เคยคิดว่าของที่อยู่ในพัสดุจะสร้างปัญหาหรือเป็นของที่ไม่ถูกกฎหมาย เพราะเป็นกล่องที่เขาก็ห่อบรรจุอย่างดีภายนอกถูกต้องเรียบร้อยทุกอย่าง อีกทั้งตัวเราเองก็อยากได้เงินต้องการทำงานพิเศษ เลยไม่คิดอะไรมาก ตอนนั้นน้ำหนักเริ่มลดลงด้วย เลยอยากแต่งตัว อยากมีเงินซื้อเสื้อผ้าใหม่  มาซื้ออาหารคลีน และใช้จ่ายในการออกกำลังกาย ตกใจมากค่ะ ตอนหิ้วกล่องไปส่งที่ไปรษณีย์ ตำรวจมาจับและบอกว่าในกล่องมีกัญชาอัดแท่ง 8 กิโลกรัม" ผึ้งเล่า


ต้องโทษทั้งสิ้น 9 ปี แต่สารภาพ โทษเลยลดลงเหลือ 4 ปี 6 เดือน และได้ยื่นอุทธรณ์ ลดลงไปอีก 6 เดือน รวมเวลาทั้งสิ้นที่ต้องรับโทษเป็นเวลา 4 ปี ตอนนี้ผ่านไป 7 เดือนแล้ว เธอหวังว่าสักวันจะได้พักโทษหรือได้รับการอภัยโทษ เวลาที่ต้องอยู่ในเรือนจำก็จะสั้นลง ทุกค่ำคืนก่อนนอน ผึ้งล้มตัวลงนอน จะทบทวนทุกครั้งว่า ทำไมชีวิตต้องผันแปรมานอนในเรือนนอน ที่ทั้งแคบและร้อน


"ถ้าเราพอใจในสิ่งที่เรามีตั้งแต่แรก เชื่อฟังแม่ เราคงไม่ต้องมาลำบากอย่างนี้ อาจจะเป็นเพราะบาปกรรมที่สร้างมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ทำให้ต้องมารับกรรมหรือความโชคร้ายของเรา อยากบอกวัยรุ่น วัยเรียนทุกคนได้ทบทวนตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราต้องการ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มากน้อยเกินไปไหม บางสิ่งบางอย่างมันแทบไม่จำเป็นเลยกับชีวิตหลายคนที่มีโอกาสเรียนมีหน้าที่เรียนก็ขอให้ตั้งใจเรียน และการหางานทำพิเศษก็ควรจะดูให้ดี คิดและไตร่ตรองให้มาก อย่าเห็นแก่ค่าจ้าง นอกจากนี้อยากให้ทุกคนเข้าใจคำเตือน คำสอน คำบ่นของพ่อแม่ เพราะนั่นคือความรักความปรารถนาดีที่ท่านมีต่อลูกทุกคน ถ้าวันนั้นเราอดทนฟังคำสอน คำบ่นของแม่ เราคงไม่ต้องเข้ามาอยู่ในที่แห่งนี้ และคงจะฝึกงานและใกล้จะจบการศึกษาแล้ว"


ถ้าได้ออกไปจากเรือนจำ ผึ้งอยากขอโอกาสจากสังคม เปิดสอนโยคะสำหรับเด็กๆ ยืดเส้นยืดสายเพื่อให้เด็กๆ มีสุขภาพกายใจแข็งแรง หลังจากที่ได้มีโอกาสได้ฝึกโยคะในเรือนจำทุกวัน และเชื่อมั่นว่ากว่าเมื่อพ้นโทษ ความรู้ ความชำนาญด้านโยคะ จะมากขึ้นและสามารถนำออกไปประกอบอาชีพเพื่อตัวเองและทำประโยชน์ต่อสังคมได้ ซึ่งในเรือนจำยังมีกิจกรรมหลายอย่างให้เลือกทำตามความสนใจ ออกแบบและทำงานหัตถกรรม (บาติก โครเชต์ ออริกามิ ดอกไม้จากดินน้ำมัน ศิลปะบำบัด (การใช้ดินสอสี สีน้ำ สีอะคริลิค) การทำเทียนหอม การทำยาหม่องและน้ำมันสมุนไพร การทำสวนถาด การปลูกต้นไม้ในขวด)


"อยากบอกวัยรุ่น วัยเรียนทุกคนได้ทบทวนตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราต้องการ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มากน้อยเกินไปไหม บางสิ่งบางอย่างมันแทบไม่จำเปนเลยกับชีวิต"


วิถีเรือนจำสุขภาวะ


วิถีเรือนจำสุขภาวะ (Healthy Prison Route) ได้รับ การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี ผศ.ดร.ธีวัลย์ วรรธโนทัย เป็นหัวหน้าโครงการเรือนจำสุขภาวะ : พัฒนาคุณภาพ ชีวิตหลังกำแพง และ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ที่ปรึกษาโครงการ เป็นแนวคิดที่มาจากการหลอมรวม ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจริง เป็นผลจากการดำเนินงานผ่านกิจกรรมต่างๆ ในเรือนจำกลางราชบุรี เรือนจำ กลางอุดรธานี และเรือนจำกลางอุบลราชธานี เป็นความ พยายามในอันที่จะพัฒนาเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่เอื้ออำนวยให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำมีสุขภาวะที่ดีในการดำรงชีวิต ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ได้รับโอกาสที่จะธำรงรักษาสายสัมพันธ์กับครอบครัวและชุมชน ทั้งนี้เวลาที่ผู้ต้องขังใช้ในเรือนจำควรมุ่งไปที่การตระเตรียมให้ผู้ต้องขังสามารถคืนกลับสู่สังคมในฐานะ "พลเมืองที่มีคุณภาพ"


แนวคิดการพัฒนาเรือนจำสุขภาวะจึงเริ่มต้นด้วย การสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย (caring community) ขึ้นมาใช้เพื่อเปิดพื้นที่เรือนจำให้เป็นพื้นที่ของการฟื้นฟู ร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ เป็นการนำ "ความเป็น ชุมชน" เข้ามาสู่เรือนจำ ซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่การลงโทษ


เรือนจำสุขภาวะมีองค์ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่ 1.เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง 2.ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ 3.เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ 4.ผู้ต้องขังมีพลังชีวิต คิดบวกและมีกำลังใจ 5.ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร 6.สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ ลูกและ/หรือสมาชิกในครอบครัว และ 7.มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม

Shares:
QR Code :
QR Code