เรื่องผลการใช้วิธีการสอนแบบโฟนิกส์ต่อความสามารถในการอ่านและเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
34. ฟาร์ติน่า สุมาลี (2553) นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษานานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำการวิจัยเรื่องผลการใช้วิธีการสอนแบบโฟนิกส์ต่อความสามารถในการอ่านและเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5กลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 40 คน ผลการวิจัยพบว่าหลังการเรียนการสอนอ่านและเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้วิธีการสอนแบบโฟนิกส์ นักเรียนมีความสามารถด้านการอ่านสูงขึ้นกว่าด้านการเขียน ทักษะการอ่านระดับคำเป็นทักษะที่นักเรียนทำได้ดีที่สุด ในขณะที่ความสามารถด้านการเขียนทั้งการเขียนระดับคำและประโยคนั้นนักเรียนได้คะแนนระดับต่ำในระดับที่ใกล้เคียงกัน คะแนนความคงทนทั้งด้านการอ่านและการเขียนของนักเรียนหกสัปดาห์หลังการทดลองนั้นลดลงจากคะแนนสอบหลังเรียน โดยมีค่าเฉลี่ยความแตกต่างอยู่ในระดับกลาง (0.43) ส่วนอุปสรรคและปัญหาในการเรียนการสอนอ่านและเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้วิธีการสอนแบบโฟนิกส์ คือ นักเรียนขาดความรู้พื้นฐานด้านตัวอักษร และด้านเสียงของตัวอักษร นอกจากนี้ยังพบว่าลักษณะของภาษาอังกฤษ และเวลาที่จำกัดเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการสอนด้วยวิธีการสอนแบบโฟนิกส์ ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการอ่านระดับคำที่ช่วยให้นักเรียนเกิดการรู้จำคำมากที่สุด คือ กิจกรรมการค้นหาคำศัพท์ (word search) และการฝึกอ่านคำศัพท์จากบัตรภาพคำศัพท์ ส่วนกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเขียนภาษาอังกฤษนั้น ได้แก่ กิจกรรมการเขียนคำศัพท์บนอากาศหรือบนฝ่ามือ และด้านความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับการอ่านภาษาอาหรับที่ได้รับจากการเรียนนอกเวลากับการเรียนภาษาอังกฤษแบบโฟนิกส์ โดยภาพรวมพบว่านักเรียนนั้นยังไม่สามารถถ่ายโอนความรู้จากการอ่านภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นการอ่านแบบโฟนิกส์มาช่วยในการอ่านภาษาอังกฤษ หากไม่ได้รับการสอนและชี้แนะอย่างชัดเจนจากครูผู้สอน
ฟาร์ติน่า สุมาลี (2553). ผลการใช้วิธีการสอนแบบโฟนิกส์ต่อความสามารถในการอ่านและเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5. วิทยานิพนธ์ศศ.ม. (การสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษานานาชาติ). ปัตตานี : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. อาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์ : ผศ.ดร.ชลลดา เลาหวิริยานนท์.
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านและเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งสอนด้วยวิธีโฟนิกส์ โดยมีคำถามวิจัยห้าประการ ดังต่อไปนี้ 1) ความสามารถด้านการอ่านและการเขียนของนักเรียนก่อนและหลังการเรียนภาษาอังกฤษโดยใช้วิธีการสอนแบบโฟนิกส์มีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร ถ้ามี ขนาดของผลเป็นอย่างไร 2) ความคงทนของความสามารถด้านการอ่านและการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนที่เรียนโดยวิธีการสอนแบบโฟนิกส์เป็นอย่างไร ถ้ามี ขนาดของผลเป็นอย่างไร 3) อุปสรรคและปัญหาในการเรียนการสอนอ่านและเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้วิธีการสอนแบบโฟนิกส์ได้แก่อะไรบ้าง 4) ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนอ่านและเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้วิธีการสอนแบบโฟนิกส์ได้แก่อะไรบ้าง และ 5) ความรู้เกี่ยวกับการอ่านภาษาอาหรับที่ได้รับจากการเรียนนอกเวลามีความสัมพันธ์กับการเรียนภาษาอังกฤษแบบโฟนิกส์หรือไม่ อย่างไร
งานวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยกึ่งการทดลอง โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 37 คน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 40 (บ้านควนโพธิ์) อำเภอเมือง จังหวัดสตูล การทดลองครั้งนี้ผู้วิจัยเป็นผู้ดำเนินการทดลองสอนนักเรียนด้วยตนเอง โดยใช้แบบแผนการวิจัยแบบการทดลองกลุ่มเดียว (One Group Pre-test Post – testDesign) และมีการทดสอบวัดความคงทนของความรู้ด้านการอ่านและเขียน หลังจากเสร็จสิ้นการทดลองไปแล้ว 6 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลประกอบด้วย 1) ข้อสอบวัดความสามารถด้านการอ่านและเขียนเพื่อใช้ทดสอบก่อนและหลังเรียน และทดสอบความคงทนของความสามารถด้านการอ่านและเขียน 2) แผนการสอนปรับพื้นฐาน 3) แผนการสอนตามเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ 4) แบบสังเกตพฤติกรรมระหว่างเรียน และ 5) แบบสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้างผลลัพธ์ที่ได้ถูกนำมาประมวลผลทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยมีผลดังนี้
1. ความสามารถด้านการอ่านและการเขียนมีความแตกต่างกันโดยนักเรียนมีความสามารถด้านการอ่านสูงขึ้นกว่าด้านการเขียน ทักษะการอ่านระดับคำเป็นทักษะที่นักเรียนทำได้ดีที่สุด ในขณะที่ความสามารถด้านการเขียนทั้งการเขียนระดับคำและประโยคนั้นนักเรียนได้คะแนนระดับต่ำในระดับที่ใกล้เคียงกัน
2. คะแนนความคงทนทั้งด้านการอ่านและการเขียนของนักเรียนหกสัปดาห์หลังการทดลองนั้นลดลงจากคะแนนสอบหลังเรียน โดยมีค่าเฉลี่ยความแตกต่างอยู่ในระดับกลาง (0.43)
3. อุปสรรคและปัญหาในการเรียนการสอนอ่านและเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้วิธีการสอนแบบโฟนิกส์ คือ นักเรียนขาดความรู้พื้นฐานด้านตัวอักษร และด้านเสียงของตัวอักษร นอกจากนี้ยังพบว่าลักษณะของภาษาอังกฤษ และเวลาที่จำกัดเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการสอนด้วยวิธีการสอนแบบโฟนิกส์
4. ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการอ่านระดับคำที่ช่วยให้นักเรียนเกิดการรู้จำคำมากที่สุด คือ กิจกรรมการค้นหาคำศัพท์ (word search) และการฝึกอ่านคำศัพท์จากบัตรภาพคำศัพท์ ส่วนกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเขียนภาษาอังกฤษนั้น ได้แก่ กิจกรรมการเขียนคำศัพท์บนอากาศหรือบนฝ่ามือ
5. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับการอ่านภาษาอาหรับที่ได้รับจากการเรียนนอกเวลากับการเรียนภาษาอังกฤษแบบโฟนิกส์ โดยภาพรวมพบว่านักเรียนนั้นยังไม่สามารถถ่ายโอนความรู้จากการอ่านภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นการอ่านแบบโฟนิกส์มาช่วยในการอ่านภาษาอังกฤษ หากไม่ได้รับการสอนและชี้แนะอย่างชัดเจนจากครูผู้สอน
ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าการสอนโดยวิธีการสอนแบบโฟนิกส์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สอนจะต้องมีการปรับพื้นฐานให้นักเรียนในเรื่องหน่วยเสียง (Phonemic awareness) และเรียนรู้วิธีการสะกดคำอ่านแบบโฟนิกส์ก่อน โดยอาจจัดสอนนอกเวลาเรียนหรือก่อนเริ่มเปิดภาคเรียน นอกจากนี้ผู้สอนควรเพิ่มกิจกรรมหรือใบงานที่เน้นให้นักเรียนได้เขียนและฝึกใช้คำถาม Wh – question ในการตรวจสอบความเข้าใจระหว่างการสอน และควรนำเนื้อหาการสอนที่เรียนผ่านมาทบทวนอย่างสม่ำเสมอทั้งในเรื่องการอ่านและการเขียน เพื่อเพิ่มความถี่ในการสังเกต จดจำ และฝึกฝนของนักเรียนซึ่งจะส่งผลให้การสอนประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น