เรื่องที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับ ‘คนไร้บ้าน’
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ที่มา : อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และคณะ, การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นทีเกี่ยวเนื่อง (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2559).
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แม้ว่ากลุ่มคนไร้บ้านจะเลือกปลีกตัวการใช้ชีวิตจากบ้านออกสู่พื้นที่สาธารณะในสังคม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นจะเลือกปลีกตัวเองออกจากความเป็นมนุษย์คนหนึ่งตามไปด้วย
ในฐานะที่ สสส. เป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดต่อทุกคนในสังคมไทยมาโดยตลอด ในงาน Human of Street ตอน Meet & Read คนไร้บ้าน ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา นางภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. ได้กล่าวในงานว่า สสส. ให้ความสำคัญและใส่ใจในการดำเนินงานสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพต่อประชากรกลุ่มคนไร้บ้าน เนื่องจากกลุ่มคนไร้บ้าน เป็นประชากรที่ดำรงชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหาสุขภาพจำนวนมาก ทั้งสุขภาพช่องปาก ผิวหนัง และสุขภาพจิต รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลพบว่า กลุ่มคนไร้บ้านมากกว่าร้อยละ 50 ไม่ได้รับสิทธิบริการรักษาสุขภาพ ดังนั้น สสส. จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาคุณภาพสุขภาวะรวมถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้น
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจต่อประชากรกลุ่มคนไร้บ้านมากขึ้น ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงรวบรวมข้อมูลที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับคนไร้บ้านมาฝากกันค่ะ
คนไร้บ้านคือใคร?
ปัจจุบันในหลายประเทศได้มีการให้นิยาม ‘คนไร้บ้าน’ (homeless) โดยหน่วยงานต่างๆ ซึ่งแม้จะมีความต่างกันในรายละเอียด หากแต่มีจุดที่คล้ายกันคือ กลุ่มคนไร้ที่อยู่อาศัยอันมั่นคงถาวร ใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอนในพื้นที่สาธารณะหรือศูนย์พักพิง และจากงานศึกษาเกี่ยวกับคนไร้บ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า คนไร้บ้านมีสภาพปัญหาและวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับความยากจน ความไม่มั่นคง และรายได้
ทำไมจึงมาเป็นคนไร้บ้าน?
การเข้าสู่ภาวะคนไร้บ้านมักมีเหตุปัจจัยทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว รวมถึงสุขภาพ ซึ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เข้าสู่ภาวะดังกล่าว และกว่าครึ่งของจำนวนกลุ่มคนไร้บ้านอยู่ในช่วงวัยกลางคน (40-49 ปี) ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพจากการทำงาน เป็นช่วงที่มีการแข่งขันจากตลาดการจ้างงาน
อาชีพของคนไร้บ้าน?
ร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรกลุ่มคนไร้บ้านมีอาชีพทำ ซึ่งร้อยละ 40 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น แม่บ้าน แรงงานก่อสร้าง พนักงานรักษาความปลอดภัย ลูกจ้างรายวัย เป็นต้น แต่ทั้งนี้กว่าร้อยละ 50 ของคนไร้บ้านที่มีอาชีพนั้นมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตแต่ละวัน ที่สำคัญอาชีพของคนไร้บ้านมีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคม เช่น เก็บขยะ แยกขยะ ที่ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลและลดปริมาณขยะ
บัตรประชาชนกับการเข้าถึงบริการสุขภาพ
การไม่มีบัตรประชาชนมีสาเหตุจากการไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ อาจเนื่องมาจากการทำบัตรหาย-ไม่เคยทำบัตร-ไม่มีคนมายืนยันตัวตน ทำให้กลุ่มคนไร้บ้านมีอุปสรรคในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของรัฐ ทำให้สุขภาพที่ย่ำแย่อยู่แล้วมีแนวโน้มแย่กว่าเดิม
คนไร้บ้านหน้าใหม่มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะที่มีบ้านเร็วกว่ากลุ่มคนที่อยู่ในภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน ซึ่งภาวะไร้บ้าน อาจเป็นช่วงหนึ่งของชีวิต หากสังคมให้โอกาสอย่าเท่าเทียม มีความเข้าใจการเป็นคนไร้บ้าน สร้างโอกาสการทำงานและรายได้ที่มั่นคงเพียงพอ รวมถึงการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ อย่างครอบคลุม ก็จะทำให้คนไร้บ้านมามีชีวิตที่มีคุณภาพได้
สสส. จึงขอร่วมเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ต้องการสร้างความเข้าใจ สร้างโอกาส และสนับสนุนให้ประชากรทุกกลุ่มได้เข้าถึงระบบสวัสดิการและโอกาสต่างๆ เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 มิติ อย่าง กาย ใจ สังคม และปัญญานะคะ