เรื่องของ…แผล
ที่มา : หนังสือปฐมพยาบาลคู่บ้าน
แฟ้มภาพ
แผลถูกแทง ความรุนแรงขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกแทงและหากถูกแทงลึกอาจถูกเส้นเลือดเส้นประสาท และเส้นเอ็น และแม้ผู้บาดเจ็บจะไม่มีอาการก็จำเป็นต้องนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูว่าแผลที่ถูกแทงถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่
แผลถูกแทงที่หน้าอก ถ้าถูกแทงด้านหลัง อาจถูกกระดูกสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตได้ หากถูกแทงด้านหน้ากลางอกอาจถูกหัวใจ
วิธีปฐมพยาบาล
1. ห้ามเลือดแล้วปิดบาดแผลให้สนิท
2. ถ้ามีวัตถุปักคา ห้ามดึงออก ควรยึดวัสดุนั้นให้อยู่นิ่ง แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
แผลถูกแทงที่ท้อง
วิธีปฐมพยาบาล
1. ให้ผู้ป่วยนอนหงาย งอเข่าเพื่อให้หน้าท้องหย่อน
2. ปิดบาดแผลด้วยผ้าสะอาดแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
3. ถ้ามีวัสดุหักคาห้ามดึงออกอย่างเด็ดขาดแต่ให้ยึดตรึงวัสดุนั้นไว้ให้อยู่นิ่งที่สุด โดยใช้ผ้าสะอาดพันรอบวัสดุ
4. ถ้าผู้ป่วยเป็นลม หน้าซีด ตัวเย็น เหงื่อแตก อาจมีเลือดตกใน ควรให้ผู้ป่วยนอนราบ ศีรษะต่ำและห้ามรับประทานอะไรทั้งสิ้น
5. ถ้ามีลำไส้หรืออวัยวะภายในโผล่แลบออกมาห้ามยัดกลับ แต่ให้ใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลแผลโดนของมีคมบาดลักษณะแผลมักเป็นแผลขอบเรียบและอาจมีเลือดออกมากหรือน้อยขึ้นกับขนาดของแผล
แผลที่มีอวัยวะส่วนปลายถูกตัดขาด
ต้องทำการห้ามเลือดและเก็บชิ้นส่วนอวัยวะที่ถูกตัดขาดด้วยวิธีดังนี้
วิธีปฐมพยาบาล
1. ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดกดบาดแผล แล้วพันด้วยผ้าอีกชั้นหนึ่งและยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูง
2. วางส่วนที่ขาดใส่ถุงพลาสติกที่แห้งสะอาด แล้วใส่กระติกน้ำแข็งหรือน้ำเย็น3. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
แผลที่ศีรษะ
เกิดจากแรงกระแทกที่รุนแรง จนทำให้เกิดการบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะ และถ้ามีการกระทบกระเทือนที่สมองอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
วิธีปฐมพยาบาล
1. ถ้าแผลมีเลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาดกดตรงแผลเพื่อห้ามเลือด แล้วใช้ผ้าพันทับถ้าแผลกว้างหรือลึกมาก หลังจากห้ามเลือดให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
2. ถ้าศีรษะได้รับการกระแทกโดยไม่มีบาดแผลให้นอนพักนิ่งๆ ตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้เลือดหรือเสมหะไหลออกสะดวก
3. สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะสมองอาจได้รับการกระทบกระเทือน ให้สังเกตว่ามีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่ เช่น ความรู้สึกตัวของผู้บาดเจ็บ ไม่รับรู้เรื่องบุคคล สถานที่ และเวลา ซึมลงหรืออาเจียน ปวดศีรษะ เป็นต้น
4. รีบนำส่งโรงพยาบาล