เรื่องของสุขภาพและกีฬา

ที่มา : เดลินิวส์


เรื่องของสุขภาพและกีฬา thaihealth


แฟ้มภาพ


ภัยคุกคามจาก โรคกลุ่มโรค NCDs (Non-Communi- cable diseases) หรือ ชื่อภาษาไทยเรียกว่า "กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง" ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเทศ ไทย สถิติล่าสุดพบว่ามีถึง 14 ล้านคนที่เป็นโรคในกลุ่มโรค NCDs และที่สำคัญยังถือเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของประชากรทั้งประเทศ โดยจากสถิติปี พ.ศ. 2552 พบว่า มีประชากรเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs มากกว่า 300,000 คน หรือ คิดเป็น 73% ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมดในปี 2552 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 200,000 ล้านบาทต่อปี (Online)


ดังนั้นการรณรงค์ให้คนไทยตระหนักและรับรู้ถึงความสำคัญของความเสี่ยงจากกลุ่มโรค NCDs ได้ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย "กระทรวงสาธารณสุข" ได้กำหนดให้อยู่ในแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เร่งการเสริมสร้างสุขภาพคนไทยเชิงรุก โดยมีตัวชี้วัดคือพฤติกรรมการออกกำลังกายของคนไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานหลักเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ได้กำหนดความสำคัญของยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมให้เกิดความรู้และความตระหนักด้านการออกกำลังกายและการกีฬาขั้นพื้นฐาน และยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมให้มวลชนมีการออกกำลังกายและมีส่วนร่วมในกิจกรรมการกีฬา เขียนอยู่ในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560-2564) และมอบหมายให้กรมพลศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบยุทธศาสตร์ทั้งสองข้อนี้โดยมีตัวชี้วัดคือประชากรทุกภาคส่วนออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ


เรื่องของสุขภาพและกีฬา thaihealth


จึงสรุปได้ว่าทั้งสองกระทรวงต่างก็มียุทธศาสตร์และตัวชี้วัดที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ได้ระบุให้การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพคุณภาพทุนมนุษย์เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศตามแผนแม่บทในอีก 20 ปี


ดังนั้นการมีสุขภาพที่ดีจึงเป็นผลลัพธ์จากการมีพฤติกรรมการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ การแบ่งงานเชิงโครงสร้างระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมพลศึกษาจึงเป็นระบบการจัดการที่ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณแผ่นดิน เพราะในการประเมินความสำเร็จของหน่วยงานทั้งสองยังปรากฏว่าไม่ผ่านตัวชี้วัด เพราะคนไทยยังไม่มีพฤติกรรมการออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้นและมูลค่าตลาดของผู้บริโภคเหล้าและสูบบุหรี่ก็ยังไม่ลดลง จึงไม่ตอบโจทย์ความสำเร็จจากการรณรงค์เพื่อลดปัญหาความเจ็บป่วยที่เกิดจาก "กลุ่มโรค NCDs" การมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกีฬาเป็นเครื่องมือและสุขภาพเป็นผลลัพธ์จะช่วยสร้างค่านิยมในวิชาชีพอย่างถูกต้องระหว่าง "หมอ" และ "ครูพละ" ซึ่งทั้งสองวิชาชีพมีความสำคัญในการส่งเสริมและการสร้างศักยภาพคุณภาพทุนมนุษย์ การรณรงค์เชิงรุกให้เด็กไทยไปหาครูพละมากกว่าไปหาหมอ จะส่งผลลัพธ์ในอนาคตให้ประเทศไทยลดภาระความสิ้นเปลืองจากค่าใช้จ่ายจาก "กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง" ในระบบสาธารณสุข


ดังนั้นการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้แก่คนไทย ยังรอผู้ที่เข้าใจและมีความจริงใจต่อผลสัมฤทธิ์ของนโยบายภาครัฐด้านสุขภาพและกีฬา

Shares:
QR Code :
QR Code