‘เรือนจำสุขภาวะ’ 7 ปี เสริมพลังบวกให้ผู้ต้องขัง

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจาก สสส.


'เรือนจำสุขภาวะ' 7 ปี เสริมพลังบวกให้ผู้ต้องขัง thaihealth


"คุก"หรือ "เรือนจำ" เกือบเป็นชุมชนปิด ที่ล้อมรอบไปด้วยกำแพงสูงป้องกันการเข้าออกหนาแน่น เป็นสถานที่กักขังของผู้กระทำผิดดำรงชีวิตต่างไปจากคนทั่วไป


เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคมสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม จัดการประชุมวิชาการเชิงนโยบายเรื่อง การเดินทางของเรือนจำสุขภาวะ (Healthy Prison Journey) เพื่อขยายผล "เรือนจำสุขภาวะ" เสริมพลังบวกให้ผู้ต้องขัง เน้นพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน ระบบสุขภาพบูรณาการ ยกระดับคุณภาพชีวิต เมื่อพ้นโทษสามารถกลับมายืนในสังคมในฐานะคนดีได้ปรกติ โดยมี พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมปาฐกถานำเรื่อง "นโยบายเรือนจำสมัยใหม่เปิดประตูสู่สังคม" ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังจำนวนกว่า 3 แสนคน ขณะที่เรือนจำมีอยู่ 143 แห่ง และรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 1 แสนกว่าคนเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก นำมาสู่ปัญหาด้านอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะด้านสุขภาวะ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินงานตามพระราชดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาที่ทรงมีพระดำริให้จัดตั้งโครงการกำลังใจ โดยมีเป้าหมาย การให้กำลังใจ ให้โอกาส ช่วยส่งเสริมและพัฒนา กลุ่มผู้ต้องขังสตรีกลุ่มเด็กติดผู้ต้องขัง กลุ่มเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดและกลุ่มผู้ขาดโอกาสอื่น ๆ ในกระบวนการยุติธรรม และยังมีเป้าหมายสำคัญในการรณรงค์ให้สังคมไทย เป็นสังคมที่พร้อมจะเป็นกำลังใจและให้โอกาสแก่บุคคลที่แม้จะก้าวพลาดแต่ก็ได้เรียนรู้ที่จะเริ่มชีวิตใหม่เป็นคนดีของสังคม


อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า โครงการเรือนจำสุขภาวะ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เข้ามาเสริมร่วมกับโครงการกำลังใจในพระดำริฯ โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ร่วมกับ สสส. ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาวะของคนไทย หนุนเสริมให้เกิดการวิจัยเชิงนโยบายและการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้นวัตกรรม การสื่อสารกับสังคม และภาครัฐถึงแนวทางการดูแลสุขภาวะของผู้ต้องขังหญิงอย่างเท่าเทียมกับคนภายนอก และในปีหน้าทางกรมราชทัณฑ์ ได้กำหนดให้มีการยกเลิกจำหน่ายบุหรี่ในร้านค้าเรือนจำเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้ต้องขังอีกด้วย


'เรือนจำสุขภาวะ' 7 ปี เสริมพลังบวกให้ผู้ต้องขัง thaihealth


ขณะที่ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สสส.คือ การสร้างเสริมสุขภาพ และทำให้ทุกคนในแผ่นดินไทยมีสุขภาวะที่ดี ไม่เว้นผู้ต้องขังที่แม้ว่าจะเป็นผู้เคยกระทำความผิดกฎหมายของบ้านเมือง แต่เขาเหล่านี้ก็ต้องการโอกาสและการดูแลที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป ซึ่งต้องยอมรับว่าการทำงานด้านสุขภาวะของผู้ต้องขังไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับการจัดงานในคราวนี้เป็นการนำเสนอผลงานตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ของโครงการ"เรือนจำสุขภาวะ" ที่ได้จากการปฏิบัติ การดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง โดยเรือนจำสุขภาวะ จะแสดงให้เห็นแนวทางสำคัญในการปรับเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่ผู้ต้องขังสามารถทำกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ทางบวก เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ให้ผู้ต้องขังมีสุขภาวะที่ดีทางกาย ใจ สังคม และปัญญา


"เรือนจำสุขภาวะ เป็นการฟื้นฟูผู้ต้องขังแบบบูรณาการสร้างพื้นฐานการดำเนินชีวิตในเรือนจำที่ไม่ให้ต่างจากสังคมทั่วไปมากที่สุด ทั้งในทางกายภาพ และวิถีการดำรงชีวิตจิตสำนึกที่ดี โดยเมื่อการลงโทษสิ้นสุดลง ผู้พ้นโทษจะสามารถเผชิญต่อการออกมาอยู่ในสังคมภายนอกได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการคืนกลับสู่สังคมอีก" นางภรณี กล่าว


ด้าน รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า จากการได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ความรู้สึกของผู้ต้องขังต่างให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่ต้องห่างจากครอบครัว โดยเฉพาะแม่ที่ต้องห่างจากลูก จะต้องประสบกับภาวะกดดัน และมีความเครียดสูง จากการสำรวจดังกล่าวจึงนำมาสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาจนเกิดเป็นกิจกรรมโยคะในเรือนจำ โดยเริ่มครั้งแรกที่เรือนจำกลางจังหวัดราชบุรี มีผู้ต้องขังสนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน คัดเลือกผู้ที่มีทักษะมาฝึกอบรมให้ผู้ต้องขังหลายคนกลายเป็นผู้สอนเพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นในเรือนจำ เพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืน โยคะเป็นการฝึกสมาธิความอิสระในร่างกาย คลายความกดดัน และความเครียดอีกทั้งยังทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง หลายคนยอมรับกับเราว่า รู้สึกสนุกและมีความสุขมากขึ้นเมื่อได้ร่วมกิจกรรม นอกจากนี้โยคะยังเป็นจุดหนึ่งของการสร้างอาชีพได้เมื่อพ้นโทษซึ่งปัจจุบันมีผู้พ้นโทษ ที่ออกมาแล้วยึดอาชีพครูสอนโยคะเป็นหลัก โดยใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขแล้วทางเรือนจำยังฝึกอาชีพอื่น ๆ ให้ด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code