เรือนจำสุขภาวะ ใช้โยคะฟื้นฟู ลดทำผิดซ้ำ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจาก สสส.


เรือนจำสุขภาวะ ใช้โยคะฟื้นฟู ลดทำผิดซ้ำ thaihealth


น่าลุ้นเรือนจำสุขภาวะ 'ใช้โยคะฟื้นฟู' นำสู่ 'ลดทำผิดซ้ำ ๆ'


"การให้ผู้ต้องขังได้ทำกิจกรรมภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดี จะทำให้ผู้ต้องขังเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และตระหนักในคุณค่าตัวเองยิ่งขึ้น ซึ่งกิจกรรมโยคะในเรือนจำเป็นหนึ่งในวิธีการที่นำมาใช้"…เป็นการระบุจาก ผศ.ดร.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย หัวหน้าโครงการวิจัย "วิถีเรือนจำสุขภาวะ : พัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพง" โดยการสนับสนุนของ สสส. เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะให้กับ ผู้ต้องขังหญิง เพื่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ และตระหนักในคุณค่าของตนเอง ซึ่ง "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์" ได้นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ไว้ในตอนที่แล้ว โดยทิ้งท้ายไว้เกี่ยวกับกิจกรรม "โยคะ" ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ…


เพื่อ "พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง"


เพื่อให้ผู้ต้องขังหญิง "ไม่ออกไปทำผิดซ้ำ"


ส่วนจะใช้ได้ดีแค่ไหน?…ก็มีการอธิบายไว้…


ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธีรวัลย์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ระบุไว้ว่า แนวคิดสำคัญของ โยคะ นั้น คือเชื่อว่า สุขภาพเป็นเรื่องของร่างกาย ความเยือกเย็นเป็นเรื่องของจิตใจ และความสงบเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ดังนั้น การมีสุขภาพร่างกายที่ดี การมีจิตใจเยือกเย็น และการมีจิตวิญญาณที่สงบ คือนิยามของ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งกระบวนการระหว่างฝึกโยคะจะช่วยทำให้เกิดสภาวะเช่นนี้ได้ โดยปัจจุบันนี้ก็มีเรือนจำหลายแห่งทั่วโลกนำโยคะเข้าไปสอนให้ผู้ต้องขังด้วยเหตุผลแตกต่างกัน เช่น เพื่อจัดการความเครียด เพื่อสุขภาพ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาทางร่างกายให้แก่ผู้ต้องขัง และส่วนใหญ่ยังมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ การ "ทำให้ผู้ต้องขังไม่หันกลับไปทำผิดซ้ำ"


เรือนจำสุขภาวะ ใช้โยคะฟื้นฟู ลดทำผิดซ้ำ thaihealth


เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางหัวหน้าโครงการฯ คนเดิม แจกแจงว่า จากการศึกษาในหลาย ๆ ประเทศ พบว่า ผู้ต้องขังจำนวนมากที่ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานจะมีความเครียด มีจิตใจไม่สงบ จากการที่ฮอร์โมนในร่างกาย  รวมทั้งระบบประสาทบางส่วน ทำงานไม่ปกติ ซึ่งการเล่นโยคะจะช่วยให้ฮอร์โมนหมุนเวียนเป็นปกติเพิ่มขึ้น อีกทั้งการเล่นโยคะยังส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยช่วยทำให้จิตใจเข้มแข็งและมีอารมณ์ที่มั่นคงมากขึ้นซึ่งจากการติดตามผลผู้ต้องขังที่เล่นโยคะนั้น พบว่า…ผู้ต้องขังที่ฝึกโยคะ จะมีสุขภาพทางด้านร่างกายดีขึ้น และมีความรู้สึกดีขึ้นกับตนเอง นี่เป็น "ข้อดี" จากการฝึกโยคะ-เล่นโยคะ


ผศ.ดร.ธีรวัลย์ ระบุไว้อีกว่า ในช่วงที่มีความเครียด ผู้ต้องขังจะใช้การกำหนดลมหายใจ เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายได้มากขึ้น และยังช่วยให้หายจากอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ และมีอารมณ์โกรธน้อยลง เกิดความเครียดน้อยลง รวมถึงมีความรู้สึกเหงาน้อยลงด้วย ขณะเดียวกันการฝึกเล่นโยคะนี้ก็ยัง ช่วยให้รู้สึกมีความมั่นใจในตัวเอง เคารพในตัวเองและรู้สึกดีกับตัวเองเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น การฝึกโยคะอย่างจริงจังไม่เพียงทำให้ผู้ต้องขังได้ออกจากพื้นที่และเวลาที่ถูกกำหนดไว้อย่างตายตัว แต่ยังเปิดพื้นที่ให้ผู้ต้องขังได้ทำกิจกรรมที่เป็น "ทางเลือก" ของตนเองอีกด้วย เป็นข้อดีที่น่าสนใจจากการ "ฟื้นฟูผู้ต้องขัง" ด้วยวิธีนี้นอกเหนือจากนั้น หลังจากที่มีการฝึกโยคะได้ระยะหนึ่ง จะทำให้ผู้ต้องขังตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของตนเอง โดยเฉพาะความรู้สึกว่าตัวเบาขึ้น ร่างกายมีความยืดหยุ่นคล่องตัวมากขึ้น และช่วยให้ผู้ต้องขังนอนหลับสบายยิ่งขึ้นในตอนกลางคืน จากที่เคยตื่นบ่อย ๆ หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ ก็สามารถนอนหลับติดต่อกันได้นานมากขึ้น และก็รวมไปถึงการช่วยลดความเครียด เมื่อผู้ต้องขังเกิดความเครียด ก็จะสามารถรวบรวมสมาธิและกำหนดลมหายใจ เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายขึ้น ทั้งนี้ การฝึกโยคะได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ต้องขัง จากสภาวะร่างกายที่ไร้พลังชีวิต ก็นำสู่สภาวะของการรู้จักตนเอง…เป็น "ประโยชน์ในแง่จิตใจ" จากการฝึกโยคะ


เรือนจำสุขภาวะ ใช้โยคะฟื้นฟู ลดทำผิดซ้ำ thaihealth


และหัวหน้าโครงการวิจัย "วิถีเรือนจำสุขภาวะ" ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจเกี่ยวกับการนำโยคะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมฟื้นฟูผู้ต้องขังชายและหญิง เช่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และกลุ่ม ประเทศสแกนดิเนเวีย โดยที่อังกฤษ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกานั้น เคยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดงบประมาณจ้างครูโยคะสอนผู้ต้องขัง จึงมีโครงการ คัดเลือกผู้ต้องขังเพื่อเป็นครูโยคะ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนงบประมาณอีกด้วย


ส่วนประเทศไทย ผศ.ดร.ธีรวัลย์ เผยไว้ว่า จากการดำเนินการในช่วง 3-4 ปีแรก หลังจากได้ตั้งศูนย์ฝึกโยคะแล้ว ก็ได้มีเรือนจำ 6 แห่งเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่, ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก, เรือนจำกลางอุดรธานี, เรือนจำกลางระยอง, เรือนจำกลางกาญจนบุรี และเรือนจำกลางมหาสารคาม โดยมีเรือนจำกลางราชบุรีเป็นศูนย์กลางฝึกโยคะ นอกจากนั้น ทางเรือนจำกลางอุดรธานีก็ได้ส่งผู้ต้องขังที่เป็นครูโยคะออกไปช่วยฝึกให้กับเรือนจำในภาคเดียวกัน เช่น เรือนจำหนองบัวลำภู เรือนจำกาฬสินธุ์ เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างของเรือนจำในประเทศไทยที่นำกิจกรรม "โยคะ" ไปใช้เพื่อ "ฟื้นฟูผู้ต้องขัง"


เรือนจำสุขภาวะ ใช้โยคะฟื้นฟู ลดทำผิดซ้ำ thaihealth


ทั้งนี้ ทาง รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ที่ปรึกษาโครงการฯ นี้ เสริมไว้ว่า การทำให้สังคมปลอดภัยจากอาชญากรรม คงไม่ใช่การมุ่งนำผู้กระทำผิดเข้าไปไว้ในเรือนจำเท่านั้น แต่ต้องใช้วิธีจัดระเบียบสังคมที่เอื้อให้คนมีความสุขและความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งเป็นทุนทางสังคม (Social Capital) ที่ช่วยให้สังคมสามารถเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการสร้างบรรทัดฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกันขึ้นมา ซึ่งการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังเป็นวิธีเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีวิธีหนึ่ง ขณะที่การสร้างกฎเกณฑ์กติกาเพื่อกีดกันหรือจำกัดสิทธิบางประการ ไม่เพียงไม่ช่วยให้ปัญหาอาชญากรรมลดลง แต่ทำให้บางคนยังเลือกเดินทางผิด มีการ "ทำผิดซ้ำ" จน "ถูกจับกลับเข้าเรือนจำซ้ำ" นำสู่กรณีปัญหา "เรือนจำล้น-นักโทษล้น"

Shares:
QR Code :
QR Code