เรือนจำกลางเชียงใหม่-สปสช.-อปท. ผนึกกำลังดูแลผู้ต้องขังเจ็บป่วย
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ผู้ต้องขังในเรือนจำถือเป็นกลุ่มเปราะบาง เข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ รัฐบาล คสช. มีนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2558 จึงมีมติให้กระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมสนับสนุนการพัฒนาและการจัดระบบบริการสาธารณสุข สำหรับผู้ต้องขังให้ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและการกำจัดโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข โดยทั้ง 3 หน่วยงานได้ลงนามบันทึกความร่วมมืออีกด้วย
โดยได้ลงพื้นที่ เรือนจำกลางเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง จากจำนวนเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ซึ่งเรือนจำกลางเชียงใหม่ มีจำนวนผู้ต้องขัง 7,385 คน เป็นนักโทษชายทั้งหมด มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 181 นาย และเป็นเรือนจำที่มีสถานพยาบาลประจำในเรือนจำ เมื่อผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยเกินกว่าสถานพยาบาลจะรับได้ จะถูกส่งต่อรักษาไปยังโรงพยาบาลแม่แตง โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ และโรงพยาบาลสวนปรุงเชียงใหม่
นายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ กล่าวว่า เรือนจำกลางเชียงใหม่ รับผู้ต้องขังครอบคลุม 8 จังหวัดในพื้นที่เรือนจำ 14 แห่ง รวมผู้ต้องขังทั้งหมด 21,602 คน ซึ่งมีนักโทษรับโทษประหารอยู่ในแดน 8 ดังนั้น สถิตินักโทษตายจึงสูงในอันดับ ต้น ๆ ของเรือนจำทั่วประเทศ จึงมีนโยบายสร้างเรือนจำสุขภาวะ พบว่าสถิติการตายในเรือนจำในปี 2559 มีผู้ต้องหาเสียชีวิต 180 คน ในปี 2560 ลดลงมาเหลือ 140 คน หลังจากได้ดำเนินนโยบายเรือนจำสุขภาวะ
ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ต้องขังเจ็บป่วยจะถูกส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลดังกล่าว ต้องใช้ผู้คุมในอัตรา 2 คน ต่อผู้ต้องขัง 1 คน ไปเฝ้ายังโรงพยาบาล ทำให้สูญเสียบุคลากร ซึ่งค่อนข้างมีน้อยถ้าเทียบกับอัตราส่วนที่ต้องการดูแลผู้ต้องขัง
กว่า 7 พันราย ซึ่งตัวเลขล่าสุดมีผู้ต้องขังที่ต้องแอด มิท 16 ราย ดังนั้น ภายในเรือนจำจึงมีระบบคัดกรองสุขภาพ โดยอบรมนักโทษด้วยกันให้เป็น อสม. ตรวจร่างกาย ทำแผลได้ ขณะเดียวกันมีพยาบาลประจำ 4 คน ในทุกวันพฤหัสฯ มีแพทย์จากโรงพยาบาลข้างต้นหมุนเวียนมาให้บริการ รวมทั้งหมอฟันมาทำฟันในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ซึ่งในแต่ละวันจะมีนักโทษวันละ 100 ราย ถูกส่งมาตรวจโรคสถานพยาบาลของเรือนจำ
นายสุรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานพยาบาลมีเตียงขนาด 48 เตียง มีเครื่องเอกซเรย์ปอด มีห้องแยกเชื้อของผู้ป่วยวัณโรค ล่าสุดมีผู้ป่วยวัณโรค 78 ราย ต้องอยู่ในห้องแยกเชื้อ 6 ราย ขณะที่ในจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 7,385 ราย มีผู้ไม่ต้องขังที่ไม่มีบัตรประชาชนประมาณ 2,600 ราย ซึ่งจะไม่ได้รับงบสนับสนุนการดูแลสุขภาพจากรัฐบาลในระบบบัตรทอง จึงต้องใช้เงินจากองค์กรการกุศลในการเข้ามาดูแลเมื่อเจ็บป่วย
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจัดบริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังเรือนจำกลางเชียงใหม่ ซึ่งวัณโรคเป็นโรคที่น่าหนักใจ เป็น 1 ใน 3 ของโรคติดต่อ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเอชไอวี จะมีอาการของโรคนี้ตามมา ดังนั้น ต้องมีระบบคัดกรองและกักเชื้ออย่างดี ต้องรับยาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ต้องเข้ามาควบคุมดูแลโรคให้กับนักโทษในเรือนจำ ต้องมีการขึ้นทะเบียนและติดตามผล ให้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพราะล่าสุดมีผู้ป่วยประชาชนทั่วไปเป็นวัณโรคดื้อยาเพราะไม่รับประทานยาตามที่หมอสั่งแล้ว 20 ราย ถือเป็นเคสพิเศษ ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่ารักษาและยาสูงถึงรายละ 1 ล้านบาท
ดังนั้นหากไม่มีการควบคุมระบบดูแลสุขภาพของคนไทยอาจล้มละลายได้ อย่างไรก็ตามงบประมาณรายหัวในปี 63 ของผู้ถือบัตรทองรัฐบาลได้รับจัดสรรงบประมาณรักษารายปี ปีละ 3,600 บาทต่อหัวต่อปี เช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณของท้องถิ่น ส่งเสริมป้องกันสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ สปสช.จะสมทบให้ 45 บาทต่อรายหัวประชากร เทศบาลตำบลสันมหาพน อ.แม่แตง จึงได้จัดสรรงบประมาณป้องกันสุขภาพให้กับผู้ต้องหาในปีงบประมาณที่ผ่านมาประมาณ 800,000 บาท
นายอรรณพ ทนุโวหาร รองนายกเทศมนตรีตำบลสันมหาพน กล่าวว่า ผู้ต้องขังเมื่อมาอยู่ในพื้นที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ ถือว่าได้ย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในเขตปกครอง ประชากรของชุมชนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเข้าไปดูแล เมื่อทางเรือนจำกลางเชียงใหม่ ทำโครงการเข้ามาเพื่อของบประมาณคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังเป็นผู้ป่วยกะทันหัน ซึ่งทางเทศบาลฯ ได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการคัดกรอง ให้ความเห็นตรงกันว่าคนทุกชนชั้นต้องเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม