“เรียนสนุก” กระตุ้นการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

ที่มา : MGR Online


ภาพประกอบจาก MGR Online



เพราะเป้าหมายทางการศึกษายังคงเป็นหัวข้อใหญ่ที่พ่อแม่ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายร่วมกันหาคำตอบและแนวทางใหม่ๆ ทางการศึกษา


ครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักพิมพ์ bookscape ที่จัดกิจกรรมต่อยอด ถอดบทเรียนหนังสือ “อนุบาลตลอดชีวิต” หรือ Lifelong Kindergarten มาสู่การจัดงานเสวนาสาธารณะ “Joyful Learning and Creative Education: เรียนอย่างไรให้สนุก: ปลุกการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต” เสวนาที่ว่าด้วยการยกระดับการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ในสังคมไทย และพัฒนาแนวทางการเรียนรู้ให้เด็กไทย


โดยนำ 5 วิทยากรผู้คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษามาร่วมแชร์ประสบการณ์การเรียนและการสอนหลากหลายรูปแบบ ที่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์” ซึ่งทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องเริ่มต้นการได้ “สนุก” กับการเรียนอย่างแท้จริงก่อน โจทย์แรกยิงตรงไปที่คำถามที่ว่าเรียนแล้ว “สนุก” เป็นอย่างไร




          


อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเรียนรู้ที่สนุก เราจะจดจำช่วงเวลาหรืออารมณ์ช่วงนั้นได้ชัดเจนกว่าเนื้อหา เมื่อสมองจดจำแล้ว เวลาที่เรามีความสุขหรือสนุก เราจะอยากทำสิ่งนั้นซ้ำอีก นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการเรียนรู้จึงควรสนุก สำหรับตัวเอง ความสนุกคือการที่เราได้ท้าทายกับความกลัวของตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ มีพื้นที่ที่เราสามารถลองผิดลองถูกได้อย่างปลอดภัย เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นการบ้านของครูว่าจะทำอย่างไรเพื่อสร้างการเรียนรู้และออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กๆ เรียนรู้บทเรียนตัวเองได้


“โดยส่วนตัวได้สัมผัสการเรียนรู้ที่สนุกอย่างแท้จริงในวัยที่จบการศึกษาไปแล้ว จึงเกิดคำถามว่าทำไมโรงเรียนจึงไม่ทำให้การเรียนรู้สนุกได้ เป็นที่มาของการมาเป็นครูเพื่ออยากสร้างการเรียนรู้ให้สนุกขึ้น บทบาทของ “ครู” คือสร้างนิเวศการเรียนรู้ สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เด็ก และไม่ใช่เฉพาะแต่ครูเท่านั้นที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก แต่คือทุกคนที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก เพราะเด็กอยู่กับโรงเรียน 6-7 ชั่วโมง ที่เหลือเขาอยู่กับพ่อแม่เพื่อน และที่สำคัญควรมีโอกาสในการตัดสินใจ ทุกคนควรเลือกได้”


ด้วยความเชื่อเรื่องการออกแบบการเรียนรู้ที่ว่า มนุษย์ไม่ได้เรียนรู้แบบแยกส่วน แต่เรียนรู้ผ่านจากประสบการณ์ของตัวเองอย่างเป็นองค์รวม อธิษฐาน์ จึงเลือกออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นการบูรณาการ เพื่อให้เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ใหม่ของผู้เรียน เชื่อมโยงกับองค์ความรู้เดิมที่เขามีติดตัวมาจากครอบครัว


“เพราะเด็กทุกคนเขาไม่ใช่ผ้าขาว ที่มาแบบสมองว่างเปล่า หน้าที่ของเราคือขุดเอาความรู้เดิมของเขามาเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ที่เขายังไม่มี ตัวอย่างหนึ่งในการบูรณาการ คือโครงการครอบครัวสาธิต เป็นกิจกรรมที่เด็กและผู้ปกครองมาเรียนรู้ร่วมกันก่อนจะเข้าเรียนจริง เราพบว่ามีกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ที่พ่อแม่รู้สึกว่าลูกวัยรุ่นไม่ฟังเขาอีกแล้ว เรามองเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ แต่อีกหนึ่งปัญหาที่พบก็คือผู้ปกครองเองไม่เรียนรู้ที่จะฟังเด็กเหมือนกัน ถ้าเปลี่ยนมารับฟังมากขึ้นทั้งสองฝ่าย เด็กก็จะเปิดใจและรับฟังมากขึ้นเช่นกัน” อธิษฐาน์กล่าว



ในฐานะตัวแทนฝั่งผู้เรียน “ธัญชนก คชพัชรินทร์” เผยว่า ความสนุกในวัยเรียนเธอมองถึง 3 เรื่องหลักประกอบด้วย เนื้อหาที่เรียน ความสัมพันธ์ระหว่างครูและเพื่อนๆ ในห้องเรียน รวมถึงกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เมื่อทั้งสามส่วนประกอบกัน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้อย่างสนุก


ขณะที่คุณพ่อของลูกชายซึ่งออกจากระบบการศึกษาไทยมาเรียนด้วยตนเอง อย่าง “เดชรัต สุขกำเนิด” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมให้ข้อคิดเห็นว่า ก่อนอื่นต้องนิยามคำว่า “สนุก” ก่อน ความสนุกมีหลายรูปแบบ แล้วแต่เนื้อหา และจุดมุ่งหมายของกลุ่มผู้เรียน “ความสนุกไม่ได้แปลว่าต้องหัวเราะ ต้องเฮฮาเท่านั้นจึงสนุก ความสนุกมีหลากหลาย แบบที่เครียดแต่สนุกก็มี การเมือง ประวัติศาสตร์ แม้แต่คณิตศาสตร์ ก็สนุกได้ เพียงแต่การจะออกแบบชั้นเรียนให้มีความสนุกควรนึกถึง 3 เรื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับวิทยากรอีกสองท่าน ได้แก่ 1.ผู้เรียนต้องมีประสบการณ์ตรงด้วยตัวเอง ซึ่งผลต่อการตัดสินใจของเขา 2.ควรเป็นสิ่งที่ไม่คาดฝันหรือเป็นสิ่งท้าทาย 3.ต้องปลอดภัยพอที่เขาจะมั่นใจเพื่อทดลองเรียนรู้ได้”



อีกหนึ่งมุมมองจากคุณครูตัวจริง “ปราศรัย เจตสันต์” อาจารย์จากโรงเรียนบางประกอกวิทยาคม ที่บอกว่า การเรียนรู้ก็เหมือนการตัดเสื้อสูท เราไม่สามารถตัดเสื้อตัวเดียวแล้วใช้กับทุกคนได้ โจทย์สำคัญสำหรับครูผู้สอน คือต้องรู้ว่าห้องเรียนต้องการความสนุกแบบไหนที่จะตอบโจทย์เด็กได้ทุกคน ซึ่งผลของการเรียนรู้จะมากน้อยแตกต่างกันตามประสบการณ์และความสนใจของเขา


“ก่อนจะถามว่าเรียนรู้อย่างไรให้สนุก มันควรมีอีกคำถามก่อนหน้าคือ “เรียนรู้อย่างไรให้ได้เรียนรู้” ลึกไปกว่านั้น ผมมองว่าบนคำว่าความสนุก ผู้เรียนรู้แต่ละคนมีนิยามความสนุกแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงวัย หรือประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน ยิ่งอายุโตมากขึ้นความสนุกของเราก็เปลี่ยนไป เราจึงควรเริ่มจากการตั้งคำถามว่าแล้วเขาสนุกเมื่อไหร่ แบบไหน กลุ่มนี้สนุก อีกกลุ่มอาจไม่สนุกก็ได้


สิ่งที่เราพบก็คือเด็กมีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกัน ดังนั้นต้องออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายให้ครอบคลุมกับเด็กทุกกลุ่ม การเรียนรู้ของครูไม่ได้เพื่อเด็กบางกลุ่มหรือบางห้องเท่านั้น เพราะเราไม่สามารถตัดเสื้อตัวเดียวแล้วใช้กับทุกคนได้ ดังนั้นต้องสร้างความหลากหลายเพื่อให้เขามีโอกาสเลือกสิ่งที่เขาสนใจ” ปราศรัย อธิบาย


สรุปได้ว่า สำหรับโลกการเรียนรู้ในยุคใหม่นี้ที่ทุกคนหาความรู้ทุกอย่างได้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวการเรียนสนุกต้องเริ่มจากการสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อให้เด็กหรือผู้เรียนรู้สึกปลอดภัย สบายใจและเชื่อมั่น โดยที่เด็กสามารถเลือกออกแบบการเรียนรู้ของเขาเอง ขณะที่ประสบการณ์โดยตรงเด็กจะได้รับการห้องเรียน คุณครู พ่อแม่ และเพื่อนๆ จากนั้นก็ขึ้นอยู่ที่เนื้อหาและวิธีการสอนของผู้สอน

Shares:
QR Code :
QR Code