เรียนรู้ ตั้งรับ ปรับตัว ยุคสื่อหลอมรวม

          การใช้สื่อยุคใหม่หากมีการไตร่ตรองและฉลาดในการเลือกใช้ ส่งผลให้มีประโยชน์มากกว่า แต่ควรให้ความรู้กับเด็กรุ่นใหม่ เพื่อให้เข้าใจและไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง


/data/content/24544/cms/e_adikqrvxy368.jpg


          ปัจจุบันสื่อกับเด็กมีความใกล้ชิดกันมาก ดังนั้น "ครู" ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียน จึงต้องมีความเข้าใจและรู้เท่าทันสื่อ เพื่อสามารถนำไปปรับใช้ในการสร้างพลเมืองที่มีความตื่นตัว ตื่นรู้ เข้าใจผู้อื่น และมีจิตสาธารณะ


          ในงานประชุมวิชาการ "อภิวัฒน์การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย" จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเพื่อนปฏิรูปการเรียนรู้


/data/content/24544/cms/e_aeimsvyz1347.jpg          รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ สำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง "เด็กเรียนรู้อย่างไรในยุคสื่อหลอมรวม" สื่อในยุคหลอมรวมคือ การนำเอาสื่อที่หลากหลายทางด้านเทคโนโลยีมารวมกัน เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ บวกกับการสื่อสารที่มีทั้งภาพและเสียงเป็นอันเดียวกัน


          ถ้ามองในด้านการเรียนการสอนสิ่งเหล่านี้จะทำให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น แต่ความยากคือ "เราจะเตรียมสื่อ ที่ดีได้อย่างไร เมื่อผู้ผลิตและผู้รับกลายเป็นคนคนเดียวกัน"


          ขณะที่ "ชิตพงษ์ กิตตินราดร" จากสถาบัน Change Fusion บอกว่า การใช้สื่อในยุคนี้หากดูผิวเผินอาจจะดูไม่ดี ในแง่ที่ว่า เส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะมีน้อยลง โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความต่างๆ ลงบนโลกออนไลน์นั้น เด็กอาจไม่รู้ว่าจะมีผลเกิดขึ้นตามมาในอนาคต


          แต่ในความเป็นจริงอาจจะดีก็ได้เพราะมีผลวิจัยพบว่า ทุกๆ 5 นาที เด็กใช้อินเทอร์เน็ต 1 นาที เพราะฉะนั้นอิทธิพลต่อการเรียนรู้จะมีมากมายมหาศาล


          "การใช้สื่อในยุคนี้มีแนวโน้มที่สามารถสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้ คือ 1.โลกส่วนตัวแยกออกจากโลกเครือข่ายสังคมดั้งเดิม 2.เครือข่ายสังคมรวมกับเรื่องสาธารณะ เช่น ข่าว เรื่องความรู้ การรณรงค์ รวมเป็นเรื่องเดียวกันมากขึ้น 3.การเติบโตของ Social Media Campaign. ซึ่งแคมเปญรณรงค์ต่างๆ จะใช้สื่อใหม่ (Social Media) เป็นตัวสร้างกระแสต่อสาธารณะ สุดท้ายคือการเกิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ หรือสร้างเรื่องใหม่ๆในสังคม เช่น เว็บไซต์เรียนฟรี,  เว็บไซต์ร่วมรณรงค์ในเรื่องต่างๆ  หรืออื่นๆที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมได้”


/data/content/24544/cms/e_adgjlpwz4568.jpg          ทำไมการรู้เท่าทันสื่อจึงสำคัญ “ธาม เชื้อสถาปนศิริ”  นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ บอกว่า เพราะเรากำลังบริโภคสื่อมากขึ้น สื่อประกอบสร้างความจริงมากขึ้น อุตสาหกรรมสื่อซับซ้อนมากขึ้น เราจำยอมหรือยินยอมสื่อมากขึ้น ขณะเดียวกันสื่อก็มีความน่าเชื่อถือต่ำลง


          นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ แนะนำถึง 5 กรอบคิดเพื่อรู้เท่าทันสื่อใหม่ ดังนี้ ‘SPACE’ เราอยู่ในพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ส่วนตัวหรือไม่ ‘TIME’ เราใช้เวลากับมันอย่างไร มากเกินไป น้อยไป ถูกจังหวะเวลา หรือช้าเร็วอย่างไร ‘SOCIAL’ เราสร้างผลประทบทางสังคมใดบ้าง ส่งสารอะไรให้สังคม ความเท็จ ความเกลียดชัง ความโกลาหล ความตื่นตระหนก ความสัมพันธ์คนอื่นกับสังคม  ‘REALITY’ เราอยู่ในโลกเสมือนจริงอย่างไร โลกจริง โลกเสมือน โลกเหนือจินตนาการ สมดุลชีวิตอย่างไร และสุดท้าย ‘SELF’ เราสร้างตัวตน มีตัวตนอย่างไร ตัวตน อัตลักษณ์ สถานะทางสังคม ความสัมพันธ์ ความคิด


          “เด็กๆ สมัยนี้ติดสื่อ ติดโลกออนไลน์เพราะพวกเขาต้องการสร้างสถานะทางสังคมที่โรงเรียนหรือที่บ้านให้ไม่ได้ เด็กเหล่านี้ต้องการความมีตัวตน ซึ่งการแสดงออกบนอินเตอร์เน็ตสามารถทำได้อย่างเต็มที่ ทั้งการแสดงความคิดเห็น และแสดงตัวตน เพราะฉะนั้นครูต้องเข้าใจและปรับตัวให้รู้เท่าทันเด็ก” ธาม กล่าวสรุป


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก

Shares:
QR Code :
QR Code