เรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาใต้น้ำ ปลูกจิตสำนึกเยาวชนรักทะเล

หลายปีที่ผ่านมา คลื่นยักษ์สึนามิได้ก่อความเสียหายอย่างรุนแรงไว้กับจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งอันดามันของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สิน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยเฉพาะแนวปะการัง ที่ต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานกว่าจะสามารถฟื้นฟูให้สวยงามได้ดั่งเดิม

เรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาใต้น้ำ ปลูกจิตสำนึกเยาวชนรักทะเล

ภัยพิบัติดังกล่าวทำให้เกิดการรวมตัวกันของนักดำน้ำมืออาชีพกว่า 50 คนจากกรุงเทพฯ มาประชุมปรึกษาหารือกันถึงหนทางที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม โดยเริ่มจากสิ่งที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ นั่นคือการร่วมมือกับนักดำน้ำท้องถิ่นภาคใต้ออกดำน้ำสำรวจผลกระทบของคลื่นสึนามิที่มีต่อแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล

แต่เนื่องจากงานฟื้นฟูแนวปะการังใต้ทะเลเป็นงานที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและใช้เวลามาก ทางกลุ่มจึงเห็นว่าควรจัดตั้งเป็นมูลนิธิ โดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิเพื่อทะเล (for sea  foundation)” และได้จดทะเบียนถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2548 เพื่อให้มีทีมงานถาวรในการสืบสานและติดตามผลการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของไทยต่อไปในอนาคต

นายศรันต์ กิตติวัณณะกุล นายศรันต์ กิตติวัณณะกุล ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อทะเล กล่าวว่า มูลนิธิมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหาย ทั้งจากภัยธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์

อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางทะเล การร่วมสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเลอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการประกอบสัมมาชีพในท้องถิ่น และให้ร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์

เขาบอกว่า กิจกรรมที่ผ่านมาของเรามีมากมาย ตั้งแต่การสำรวจและศึกษาผลกระทบจากคลื่นสึนามิที่มีต่อแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งพบว่ามีกัลปังหา (sea  fans) และปะการังโครงร่างแข็งจำนวนมาก เช่น ปะการังโต๊ะ ปะการังโขด ฯลฯ เกิดการฉีก ขาด หัก คว่ำอยู่บนพื้นทราย จึงได้เข้าไปทำการพลิกฟื้น ซ่อมแซม และติดยึด เพื่อฟื้นฟูปะการังเหล่านั้น

นอกจากนี้ยังจับมือกับ  sos (www.saveoursea.net) จัดกิจกรรมปล่อยหอยมือเสือคืนทะเล ซึ่งได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพราะหอยมือเสือกินอาหารโดยการอ้าปากดูดกรองอาหารที่ลอยมาตามน้ำ ดังนั้น บริเวณใดที่มีหอยมือเสืออาศัยอยู่ น้ำจะใสสะอาด ซึ่งช่วยให้ระบบนิเวศของทะเลดีตามไปด้วย

เรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาใต้น้ำ ปลูกจิตสำนึกเยาวชนรักทะเล

กิจกรรมเก็บขยะและตัดอวนของชาวประมงที่ขาดติดอยู่ตามแนวปะการัง ซึ่งช่วยให้แนวปะการังใสสะอาดและสวยงาม ที่สำคัญคือไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตของปลาและสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ใต้ท้องทะเลอีกด้วย

โครงการฝูงบินปะการังเพื่อทะเล จากความอนุเคราะห์ของกองทัพอากาศ ที่ได้มอบเครื่องบินเก่าปลดระวางจำนวน 10 ลำให้แก่มูลนิธิใช้สร้างแนวปะการังเทียมให้เป็นแหล่งดำน้ำใหม่ เพื่อที่จะดึงดูดนักดำน้ำจากจุดดำน้ำธรรมชาติต่างๆ และยังสามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศวิทยาใต้น้ำในอนาคต

“นายศรันต์” กล่าวว่า ล่าสุดมูลนิธิเพื่อทะเลและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดโครงการเยาวชนสัมผัสชีวิตใต้ท้องทะเลไทย รุ่นที่ 9 ชวนเยาวชนร่วมกิจกรรมส่งเรียงความประกวดหัวข้อ “โลกร้อน ทะเลล้า” ผลงานผู้ผ่านคัดเลือกรับสิทธิ์เรียนดำน้ำลึกพร้อมเข้าค่ายปฏิบัติจริง ณ เกาะไหง ทะเลตรัง ระหว่างวันที่ 26 เมษายน-3 พฤษภาคม 2554 นี้

เรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาใต้น้ำ ปลูกจิตสำนึกเยาวชนรักทะเล

“เราเห็นความสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์ทะเลให้กับเยาวชน เพราะเยาวชนจะต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และจะเป็นผู้ที่สร้างผลกระทบต่างๆ ให้กับสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านดีและด้านร้าย หากเราสามารถปลูกฝังจิตสำนึกของการเป็นนักอนุรักษ์และการหวงแหนธรรมชาติให้กับเยาวชนได้ จึงเท่ากับเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน” เขากล่าว และว่า

มูลนิธิเพื่อทะเลจึงได้สานต่อความสำคัญของโครงการเยาวชนสัมผัสชีวิตใต้ท้องทะเลไทยขึ้นเป็นครั้งที่ 9 โดยที่ผ่านมาโครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีเยาวชนที่ผ่านการอบรมในโครงการนี้ไปแล้ว กว่า 200 คน

สำหรับเด็กที่เข้าร่วมโครงการจะมีเยาวชนจำนวน 30 คนที่ผ่านการคัดเลือกจากการเขียนเรียงความ สอบสัมภาษณ์ สามารถว่ายน้ำได้อย่างดี และผู้ปกครองเห็นชอบ จะได้รับการฝึกอบรมดำน้ำจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ระหว่างวันที่ 26 เมษายน-3 พฤษภาคม 2554 ณ เกาะไหง ทะเลตรัง

หลังจากจบหลักสูตรจะได้รับประกาศนีย บัตรจากสถาบัน padi (professional association of  diving  instructor) เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงการผ่านหลักสูตรเรียนดำน้ำที่สถาบันทั่วโลกให้การยอมรับ และยังสามารถนำไปเข้าร่วมกิจกรรมเรียนดำน้ำระดับขั้นสูงขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ เยาวชนได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติเป็นเวลา 6 วัน มีการเรียนดำน้ำลึกแบบ scuba หลักสูตร  open  water diver ตามมาตรฐานของ  padi และยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาใต้น้ำ การอยู่อาศัยแบบพึ่งพิงกัน พร้อมกับฝึกหัดการจดบันทึกปลาทะเลที่พบเห็นใต้น้ำ อันนำไปสู่การปลูกฝังจิตสำนึกผู้นำนักอนุรักษ์ในอนาคต

“กิจกรรมทั้งหมดทั้งมวลที่ทางมูลนิธิเพื่อทะเลจัดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างจิตสำนึก ความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ธรรมชาติใต้ทะเล พร้อมทั้งหาแนวร่วมใหม่ๆ ที่จะปกป้องผืนทะเลไทย รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเลอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อทะเลกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 

Shares:
QR Code :
QR Code