เรียนรู้ผ่านการลงมือทำพัฒนาศึกษาไทย
'การศึกษา' เป็นกระบวนการที่ช่วยให้คนได้พัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนจึงไม่จำกัดเฉพาะสายสามัญภาคทฤษฎี ควรต้องมีภาคปฏิบัติให้ผู้เรียนได้ลงมือทำเองควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นพัฒนาการด้านสมองและทักษะฝีมือควบคู่กันไปเป็นรากฐานจริงที่จะนำไปใช้ได้ทันที
แฟ้มภาพ
นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวในเวทีประชุม "การศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เรื่อง ระบบโรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้" จัดโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชน และครอบครัว(สสส.)ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา (IRIS)มูลนิธีสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบการศึกษา จะต้องทำให้ห้องเรียนเป็นศูนย์กลาง ต้องเปลี่ยนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยใหม่เป็นเน้นการสอนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเปลี่ยนฐานการเรียนรู้ให้เกิดการปฏิบัติจริง โดยครูต้องร่วมเรียนรู้ไปกับนักเรียน จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียนรวมทั้งการนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
"ปัจจุบันมีโรงเรียนที่จัดทำเรื่องปฏิรูปการเรียนรู้ในหลายพื้นที่ แต่จะทำอย่างไรให้ขยายไปทั่วประเทศ การค้นหาโมเดลที่เหมาะสมกับโรงเรียนในทุกพื้นที่ด้วยการสังเคราะห์บทเรียนที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งนี้ คาดว่าจะได้แนวทางที่ดีนำมาหนุนเสริมให้สามารถเกิดเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อไปได้" นายอนุสรณ์ กล่าว
ด้าน นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานของ สสส.โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีระบบการทำงานแบ่งเป็น 2 ทิศทาง คือ 1.กลุ่มโรงเรียน 2.กลุ่มเยาวชน ซึ่งเรื่องการศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ขับเคลื่อนโดยการทำงานผ่านกลุ่มโรงเรียนตัวอย่างเช่น โครงการโรงเรียนสัมมาชีพ และโรงเรียนสุขภาวะ ที่ได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา(IRIS)ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Active Lerning) โดยมี 3 เครื่องมือ ได้แก่ 1.จิตศึกษากระบวนการนำแนวคิดพัฒนาทั้งครูและนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่งอกงามด้านความฉลาดทางอารมณ์และจิตวิญญาณ
2.การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้เริ่มต้นจากปัญหาโดยใช้กระบวนการทำงานกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาหรือสถานการณ์เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน 3.การเพิ่มเวลาเรียนรู้ เป็นการฝึกทักษะชีวิตโดยให้เด็กได้ลงมือทำจริง มีการประสานงานร่วมมือกับผู้ปกครอง ชุมชน เช่น ทำนา เกษตรปลอดภัย หรือทำงานประดิษฐ์จากวัสดุในพื้นที่ เป็นต้น
มาที่ต้นแบบโรงเรียนสุขภาวะ โดย นายกัมพล เจริญรักษ์ผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งยาวคำโปรย จังหวัดศรีสะเกษ เล่าถึงการทำงานว่าแรกเริ่มที่ได้เข้าร่วมโครงการกับ สสส.และ IRIS มีผู้ปกครองจำนวนมากไม่เข้าใจ โดยกังวลว่าเด็กจะสามารถสอบโอเน็ตได้หรือไม่ทางโรงเรียนจึงแก้ปัญหาด้วยการให้ผู้ปกครองมาเข้าห้องเรียนเหมือนนักเรียน และมีครูมาสอน จากนั้นก็สอบถามความคิดเห็น ได้ผลตอบรับที่ดี หลังจากดำเนินการมาเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ผลตอบรับจากครูและนักเรียนดีมาก ส่วนคนที่เคยย้ายออกก็ได้ส่งลูกกลับมาเข้าเรียนใหม่
นายกัมพลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสำหรับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนทุ่งยาวคำโปรย แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ในช่วงเช้านักเรียนจะเรียนในรายวิชาหลัก คือ วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ พลศึกษา ทั้งนี้ ทางโรงเรียนยึดตามโครงสร้างหลักสูตร ส่วนในช่วงบ่ายจะเป็นการบูรณาการซึ่งจะมีวิชาสังคมศึกษา การงานพื้นฐานอาชีพ ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งครูและนักเรียนร่วมคิดโปรเจกต์ขึ้นมา โดยต้องสอดคล้องกับเรื่องที่เด็กต้องการเรียน ผลที่ได้จากการพัฒนาตามโครงการ ทำให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ พบว่าเด็กมีสมาธิในการเรียนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนจริง
"สิ่งที่น่าภาคภูมิใจมากที่สุดคือ ในเวลา 3 ปี เด็กนักเรียนของโรงเรียนทุ่งยาวคำโปรย มีคะแนนสอบ Onet สูงขึ้นทั้งหมด 6 วิชาโดยไม่มีการจัดติวก่อนสอบ ทั้งครูและนักเรียนมีความสุข ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทุกคนเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ที่อาจจะเป็นความหวังที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตได้" นายกัมพล กล่าวทิ้งท้าย
เรียนโดยลงมือทำคู่ไหด้วยเป็นการเพิ่มพัฒนาการศึกษาไทยให้เจริญได้จริงๆ
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ