เรียนรู้ชีวิตจากหนังสือคลาสสิก
การอ่านหนังสือคลาสสิก จะทำให้เราได้ทั้งความบันเทิงของงานศิลปวรรณกรรมระดับยอดเยี่ยม และทำให้เราเรียนรู้จากชีวิต ประสบการณ์ ความคิด ความอ่าน ของผู้คนอย่างลึกซึ้งและกว้างไกลเพิ่มขึ้น
หนังสือคลาสสิก คือ หนังสือดีชั้นเยี่ยม ที่เป็นแบบฉบับที่ศิลปะในการเขียนและเนื้อหาที่เป็นสากลสำหรับมนุษย์ ไม่ว่าสมัยไหนหรือจากเชื้อชาติวัฒนธรรมไหน อาจจะเก่าเป็นพันปี 50-100 ปี ถ้ามีคุณภาพถึงขั้นคนยอมรับ พิมพ์กี่ครั้ง แปลเป็นภาษาไหนก็ยังมีคนอ่านและชื่นชม ก็จัดเป็นหนังสือคลาสสิกหรือคลาสสิกยุคใหม่ได้หนังสือคลาสสิกหล่อหลอมวัฒธรรมความเป็นเอกภาพ ของคนที่ใช้ภาษาเดียวกัน เมื่อแปลเป็นภาษาอื่นก็สื่อสารสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ เป็นมรดกทางประสบการณ์ ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เช่น เราอ่านเรื่องสามก๊ก, อิเหนา, กามนิต วาสิฏฐี, ธรรมบท ฯลฯ ที่ความจริงแปลจากภาษาอื่น เหมือนกับอ่านวรรณกรรมของเราเอง
คนที่เป็นนักอ่านวรรณกรรมคลาสสิกมากพอ จะอ่านบทละครกรีกโบราณหรือเชคสเปียร์ของอังกฤษ เหมือนกับอ่านเรื่องของมนุษย์ที่รัก โกรธ โลภ หลง เช่นเดียวกับเรา โดยไม่ค่อยรู้สึกเรื่องความแตกต่างทางชนชาติหรือยุคสมัยมากนัก
การอ่านหนังสือคลาสสิก จะทำให้เราได้ทั้งความบันเทิงของงานศิลปวรรณกรรมระดับยอดเยี่ยม และทำให้เราเรียนรู้จากชีวิต ประสบการณ์ ความคิด ความอ่าน ของผู้คนอย่างลึกซึ้งและกว้างไกลเพิ่มขึ้น การศึกษาในยุคอดีตพึ่งพาการอ่านงานหนังสือคลาสสิกค่อนข้างมาก ปัจจุบันในโลกตะวันตกและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ก็ยังให้นักเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยอ่านหนังสือคลาสสิกอยู่
ญี่ปุ่นที่เปิดประเทศรับวัฒนธรรมตะวันตกสมัยเมจิ พร้อมๆ กับเรา ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ระดมแปลและอ่านศึกษาหนังสือคลาสสิกของโลกกันอย่างขนานใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมไปไกลกว่าไทยมาก ปัจจุบันคนญี่ปุ่นก็ยังแปล, เขียนและอ่านหนังสือกันมากกว่าไทย
ไม่มีรัฐบาลไทยชุดไหนคิดเรื่องการแปลหนังสือคลาสสิกของโลก ให้คนไทยได้อ่านกัน มีสำนักพิมพ์เอกชนบางแห่ง เลือกแปลและพิมพ์บางเล่มที่มีชื่อเสียงและพอขายได้ แต่ก็ยังน้อย มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม กำลังพิมพ์หนังสือแปลคลาสสิกอย่างจริงจัง เราได้รับเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งจาก สสส.แต่ก็ต้องพยายามทำให้เป็นสำนักพิมพ์ที่มีรายได้จากการขายหนังสือ และการรับบริจาคเพื่อเลี้ยงตัวเองให้ได้ในระยะต่อไป
มูลนิธิฯ พิมพ์หนังสือออกมาแล้ว 11 เล่ม นอกจากการคัดเลือกหนังสือและนักแปลแล้ว เรายังมีบรรณาธิการคอยตรวจทานต้นฉบับ การพิสูจน์อักษรและการพิมพ์ให้อยู่ในเกณฑ์ดี หนังสือแปลเท่าที่พิมพ์กันมีปัญหาในแง่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีบรรณาธิการตรวจทาน เพราะหนังสือแปลมักจะขายได้น้อย, กำไรน้อย หรือแค่ทำคุ้มทุนยังยาก สำนักพิมพ์ในบ้านเราจึงไม่ค่อยมีงบประมาณจ้างบรรณาธิการเหมือนสำนักพิมพ์ในต่างประเทศ
หนังสือที่เราพิมพ์มาส่วนใหญ่จะเป็นนวนิยาย แต่ก็มีชีวประวัติและปรัชญาความคิดของบุคคลที่น่าสนใจด้วย เพราะอยากส่งเสริมด้านภูมิปัญญาความคิดอ่านไปพร้อมกับเรื่องศิลปวรรณกรรม หนังสือชุดแรกมีนวนิยายของวิลเลี่ยม ซาโรยัน นักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายอาร์เมเนียน 3 เล่ม เรื่อง ความสุขแห่งชีวิต, ฟ้ากว้างทางไกล, ผมชื่ออารัม เป็นเรื่องเล่าชีวิตของคนธรรมดาในเมืองเล็กๆ ในสหรัฐฯ ในยุคศตวรรษที่ผ่านมาที่มีลักษณะอบอุ่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี แบบคนที่มาจากสังคมชนบท แต่ก็มีการเรียนรู้จากชีวิต มีแง่คิดในเชิงมนุษยธรรมที่น่าสนใจ ผู้เขียนเขียนจากประสบการณ์ในวัยเด็กของเขา การเขียนผ่านตัวละครที่เป็นเด็กและเยาวชน ช่วยสื่อเรื่องราวที่น่าสนใจที่อ่านได้ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่ส่วนมากก็มักคิดถึงชีวิต ในสมัยตนเป็นเด็กและเยาวชนด้วยกันทั้งนั้น
นวนิยายที่น่าประทับใจมากเรื่องหนึ่งคือ ปราการอุดมคติ ของเอ เจ โครนินนักเขียนชาวอังกฤษที่เป็นแพทย์มาก่อน เขาเขียนนวนิยายที่สะท้อนชีวิตและความขัดแย้งของแพทย์ชาวอังกฤษ 2 กลุ่ม ในศตวรรษที่แล้วได้อย่างสมจริง เห็นเนื้อหาสาระสำคัญ และอย่างมีศิลปะในการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของคนที่มีลักษณะซับซ้อนได้ชัดเจนมาก นี่คือหนังสือที่นักศึกษาแพทย์, แพทย์ บุคลากรสาธารณสุข ควรอ่านอย่างยิ่ง พวกเราในฐานะคนไข้อ่านแล้วก็ได้แง่คิดและความรู้สึกที่น่าสนใจเช่นกัน
หนังสืออัตชีวประวัติของหมอเบน คาร์สัน คนอเมริกันผิวสี ผู้เติบโตมาจากครอบครัวยากจนในสลัม แต่กลายเป็นหมอผ่าตัดที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงมาก เป็นหนังสือร่วมสมัยอีกเล่มหนึ่งที่น่าสนใจชื่อหนังสือคือ สองมือแห่งศรัทธาชีวิตแพทย์ผู้สร้างแรงบันดาลใจ
บทละครเรื่อง ผู้เที่ยงธรรม ของอัลเบร์ต กามูส์ นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดังจากเรื่อง คนนอก แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดย โคทม-พรทิพย์ อารียา และนวนิยายเกี่ยวกับกษัตริย์อาเธอร์และอัศวินโต๊ะกลม The Once and Future King ของ T.H. White เป็นตำนานที่โรแมนติก, เป็นอุดมคติที่ใครๆ ก็ชอบ แปลเป็นภาษาไทยชื่อ อาร์เธอร์ ราชันแห่งนิรันดร์กาลโดย นพมาส แววหงส์
หนังสืออื่นๆ มี หนังสือจิตวิทยา ของ อิริค ฟรอมม์ เรื่องศิลปะแห่งการรัก(The Art of Loving) เป็นหนังสือจิตวิทยาสำหรับผู้อ่านทั่วไป ที่มีชื่อเสียงจนกลายเป็นคลาสสิกเรื่องหนึ่ง และความเรียงเชิงปรัชญา เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและความตาย ของอัลแบรต กามูส์ ชื่อเรื่องเทพตำนานซีซิฟ แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดยวิภาดา กิตติโกวิท
เล่มล่าสุดคือ ชีวิตเซอร์วิลเลี่ยม ออสเลอร์ นายแพทย์ชาวแคนาดา ผู้ได้รับการยกย่องอย่างสูงในแง่ผลงานการศึกษาค้นคว้าเรื่องโรคภัยและการใช้ชีวิตอย่างแพทย์ผู้มีอุดมคติ
'การอ่านหนังสือ คลาสสิก จะทำให้เรา ได้ความบันเทิง ของงานศิลปวรรณกรรม ระดับยอดเยี่ยม'
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ และโครงการหนังสือเพื่อสังคม Book For Society Project