เริ่มที่วัดกับพระสงฆ์ ต้นธารความหวังของผู้ป่วยจิตเวช
“อย่าเรียกพวกเขาว่า คนบ้า แต่ให้เรียกพวกเขาว่า ‘ผู้ป่วย’ เพราะการไปตีตราพวกเขาว่า บ้า นั้น ส่งผลให้พวกเขาไม่กล้าออกสู่สังคม เหมือนคนมาบอกโยมว่า โยมเป็นคนบ้า แล้วโยมจะกล้าออกมาอยู่ร่วมกับคนอื่นไหม ต้องทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมที่เขาอยู่ อย่าปิดประตูใส่พวกเขาด้วยคำว่า บ้า” พระปลัดมานัส เลขาฯ ชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน โดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำ เล่าถึงหัวใจของการทำงานด้านจิตเวชให้ฟัง
ปัจจุบันตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป้วยทางจิตเวชอยู่เกือบร้อยคน ทั้งหมดได้อาศัยความเอื้อเฟื้อจากผ้าเหลือง ที่สละเวลานอกเหนือจากกิจของสงฆ์ มาช่วยดูแล ตลอดจนพัฒนาแนวทางในการเยียวยารักษาผู้ป่วยจิตเวชให้สามารถอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้
ชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน โดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำ เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวปี 2543 โดยพระครูประโชติสังฆกิจ หรือหลวงพ่อใหญ่ เจ้าอาวาสวัดห้วยพรหม ได้รับการร้องขอจากนักสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลจิตเวช นครราชสีมา ราชนครินทร์ ให้ช่วยทำโครงการดังกล่าวขึ้นมา เนื่องจากคนไข้คนหนึ่งที่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวช ได้เล่าถึงความเอื้อเฟื้อ และความมีเมตตาของหลวงพ่อใหญ่ให้ฟัง
เมื่อวัดไร้ประตู หลวงพ่อใหญ่ใยเลยจะปิดกกั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของชมรมฯ เริ่มแรกนักสังคมสงเคราะห์อยากให้ผู้ป่วยย้ายมาอยู่ที่วัด แต่หากเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นภาระที่หนักหน่วงเกินไป
พระปลัดมานัส จึงเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมนั้น ผู้ป่วยจิตเวชจะไปๆ กลับๆ ระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล โดยไปอยู่ที่โรงพยาบาลครั้งหนึ่งเป็นเวลานาน พอกลับมาอยู่บ้านได้ไม่นานก็เกิดอาการคลุ้มคลั่งอีก จนต้องกลับไปใหม่ วนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้
“หลวงพ่อใหญ่ท่านจึงเรียกประชุม เชิญทีม อบต. รวมถึงกลุ่มอาสาสมัคร เข้าร่วมหารือกัน พัฒนากระบวนการอย่างค่อยเป็นค่อยไป จุดหนึ่งที่เห็นร่วมกันคือ คนไข้อยากอยู่บ้าน เช่นนั้น จะทำอย่างไรให้พวกเขาไม่ต้องกลับไปโรงพยาบาล เริ่มต้นได้เกิด การออกเยี่ยมผู้ป่วยถึงบ้าน ทั้งพระสงฆ์ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อาสาสมัคร โดยใครอยู่หมู่ไหน ห้ามเยี่ยมหมู่นั้น จากนั้นจึงเอาปัญหามาวิเคราะห์ร่วมกัน” พระปลัดมานัสเล่า
ท้ายที่สุดก็ได้แนวทางในการทำงานร่วมกันว่า หนึ่งทำอย่างไรให้ผู้ป่วยนั้นสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านได้ สองทำอย่างไรไม่ให้ผู้ป่วยไม่ต้องกลับไปนอนโรงพยาบาลอีก เป็นแค่ไปตรวจและรับยาตามที่หมอนัดหมายเท่านั้น สามลดอคติ ความเข้าใจผิดๆ ของผู้คนในชุมชนที่มีต่อผู้ป่วย จากนั้นทั้งหมดได้ลงพื้นที่ร่วมกัน
ผลจากการออกเยี่ยม จึงทำให้เห็นตำตอบว่า ทำไมผู้ป่วยจึงมีอาการกำเริบ โดยมีสาเหตุหลักจากความยากจน ทำให้ไม่ไปรับยาอย่างต่อเนื่อง รวมเผลอไปทำงานหนัก ประกอบกับการกินยาทำให้ตัวแข็ง น้ำลายไหล จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่ยอมกินยา
หลวงพ่อใหญ่จึงจัดการเรื่องปัจจัยเพื่อให้ผู้ป่วยเดินทางไปรับยาได้ โดยให้คนละ 300 บาท กับผู้ป่วยประมาณ 80 คน ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก จึงมีการจัดสรรใหม่ โดยทำเรื่องให้โรงพยาบาลจิตเวชฯ นัดคนไข้จากตำบลอุดมทรัพย์ไปรับยาพร้อมกัน ผลทำให้ หลวงพ่อใหญ่เช่ารถ แล้วพาคนไข้ไปรับยาในครั้งเดียว
“เรื่องการกินยานั้น ก็ได้กลุ่มพระสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร คอยออกเยี่ยมให้ผู้ป่วยกินยาอยู่เสมอ และเฝ้าติดตามถึงผลข้างเคียงของการกินยา ซึ่งพบว่า ผลข้างเคียงนั้นยังอยู่ ทั้งยังได้สังเกตเห็นอีกหนึ่งปัญหาหลัก ที่เสมือนเป็นหัวใจในการรักษา นั่นก็คือ ชุมชนไม่ยอมรับผู้ป่วยจิตเวช” พระปลัดมานัสเล่า
ทางกลุ่มผู้ดำเนินการจึงได้นำปัญหากลับมาร่วมกันวิเคราะห์ใหม่ ว่าเพราะเหตุใดชุมชนจึงไม่ยอมรับ แล้วจึงนำมาทำกิจกรรม โดยหลวงพ่อใหญ่ได้คิดกุศโลบายเพื่อเพิ่มความเข้าใจให้กับชุมชน
“หลวงพ่อใหญ่ท่านจึงคิดกิจกรรมขึ้นมา อย่างการจัดพิธีสะเดาะเคราะห์ประจำปีขึ้น ท่านก็เทศนาเรื่องผู้ป่วยจิตเวชแทรกเข้าไป เพื่อละลายพฤติกรรมความคิดที่เป็นอคติของคนในชุมชนให้เบาบางลง หรือ งานประจำปีผู้สูงอายุ ท่านก็เอาเรื่องสุขภาพจิตไปแทรก ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรที่ชาวบ้านมารวมตัวกัน ท่านก็จะขอแทรกเรื่องนี้ตลอด” พระปลัดมานัสเสริม
กิจกรรมต่างๆ ที่ทางโครงการคิดขึ้นนั้น มีเป้าหมายหลักสำคัญ 3 อย่าง คือ ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟู เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยจิตเวช ไม่มีอาการทรุด และส่งเสริมคนธรรมดาให้ไม่หนีผู้ป่วยจิตเวช โดยเริ่มกระจายความเข้าใจสู่ชุมชน
นอกไปจากนั้นในช่วงเทศกาลสำคัญๆ ต่างยังให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยประเพณีที่สำคัญอย่างวันลอยกะทง ก็ทำการส่งเสริมให้เป็นวันผู้ป่วยจิตเวชด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้ามามีส่วนร่วม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นเช่นคนปกติ แต่กระนั้น ก็ยังไม่เกิดการยอมรับเท่าที่ควร
ต่อมามีการใช้ดนตรีบำบัด โดยนำผู้ป่วยมาร่วมตีกลองยาว มีเจ้าหน้าที่ อบต. คมกฤต ผดุงเวียง มาเป็นผู้ฝึกสอน ร่วมด้วยกลุ่มจิตอาสา ผสมเป็นวงขึ้นมา เมื่อหลวงพ่อใหญ่เห็นจึงให้ไปตีรอบหมู่บ้าน จนทั่วตำบลอุดมทรัพย์ เพื่อชักชวนให้ผู้คนมาร่วมงานเทศน์มหาชาติ กลองยาวแห่ไปที่ใด ก็มีชาวบ้านออกมาร่วมขบวน ผู้ป่วยก็มีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศ และเมื่อชาวบ้านก็ได้เห็นว่าผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนได้ ก็เริ่มมีการเรียกวงกลองยาวไปร่วมงานต่างๆ ทั้งงานบวชนาค งานฉลองตาตั้งพระครู จนถึงงานแต่งงาน
พระปลัดมานัส เล่าให้ฟังอีกว่า ครั้งหนึ่งวงกลองยาวได้ไปออกงานที่เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร มีผู้ชมจำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยตื่นเต้น แต่ทุกอย่างก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เมื่อการแสดงจบลง ผู้ป่วยพูดคนหนึ่งพูดว่า “ผมไม่กลัวอีกแล้วครับ เขาก็คนเราก็คนเหมือนกัน” ซึ่งทำให้เห็นว่า ผู้ป่วยสามารถก้าวผ่านความกลัว อันเป็นผลจากการได้รับการยอมรับ
ปัจจุบันวงกลองยาวมีสมาชิกเกือบ 30 คน มีผู้ป่วยจิตเวชเป็นสมาชิกร่วมวงถึงครึ่งหนึ่งนี้ ได้เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เห็นว่า กิจกรรมต่างๆ นับเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย และผู้คนในชุมชน ในการรังสรรค์ความเข้าใจของคนปกติ ให้เข้าใจร่วมกันถึงปัญหาของผู้ป่วยจิตเวช ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องพึ่งพาชุมชนในการให้ความรักความช่วยเหลือในการฟื้นฟูสภาพจิตใจของบรรดาผู้ป่วย
ภายหลังจากนั้น ทางหลวงพ่อใหญ่ก็ริเริ่มกิจกรรมฟื้นฟูอาชีพ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ อาทิ การเชิญผู้สูงอายุมาสอนผู้ป่วยทอเสื่อ ทำดอกไม้จันท์ การนำเกษตรกรมาสอนปลูกผัก
ที่สำคัญ ทีมปฏิบัติการของหลวงพ่อใหญ่ยังเล็งเห็นความสำคัญของเยาวชนในท้องถิ่น โดยมีการให้ความรู้ และจัดตั้งแกนนำนักเรียนด้านสุขภาพจิต ด้วยความที่เด็กนักเรียนหลายคนมีญาตเป็นผู้ป่วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทัศนคติ หากไม่มีความเข้าใจร่วมกัน อาจมีการล้อ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นประตูที่ปิดกั้นการยอมรับไปโดยปริยาย แกนนำจะคอยช่วยเป็นหูเป็นตา รวมถึงเด็กที่มีญาตเป็นผู้ป่วยก็จะช่วยดูและสังเกตเรื่องการกินยา ขณะที่ครูในโรงเรียนเองก็จะช่วยในการให้ความรู้อีกแรง
ด้านนักสังคมสงเคราะห์เอง ก็ไม่เคยทิ้งกลุ่มพระสงฆ์ให้เดินโดยลำพัง ยังคงช่วยจัดหางบประมาณลงมาสู่พื้นที่อย่างต่อเนื่อง และยังทำงานร่วมกันกับกลุ่มพระสงฆ์ ชาวบ้าน ทีมผู้บริหารส่วนท้องถิ่นเรื่อยมา
ชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน โดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำ ของตำบลอุดมทรัพย์ จึงนับเป็นเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกัน ของคนทั้งตำบล ก่อเกิดเป็นพลังผลักดันอันยิ่งใหญ่ จากระยะเวลามากกว่าทศวรรษ มีความสำเร็จที่ต่อยอดความสำเร็จมากมาย ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะความมุ่งมั่นของชุมชน เป็นผลให้ผู้ป่วยจิตเวชของอุดมทรัพย์ มีคุณภาพชีวิตที่ทัดเทียมกับคนอื่นๆ เฉกเช่นรอยยิ้มที่มีปรากฏให้เห็น ยามที่พวกเขารู้ว่า พวกตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ตัวเองอยู่
ที่มา : ปันสุข