เรตติ้ง ประโยชน์ของ…
เครื่องมือที่ช่วยพ่อแม่เลือกรับสื่อที่เหมาะกับวัยของลูก
ในอดีต เวลาที่เราพูดถึงคำว่า เรตติ้งรายการโทรทัศน์ เราก็มักจะคุ้นชินกับความหมายที่ว่า รายการนั้นๆ ได้รับความนิยมจากผู้ชมมากเพียงใด หากรายการนั้นมีผู้ชม “มาก” นั้นหมายถึงว่ารายการนั้นมี “เรตติ้งดี” ในทางตรงกันข้าม หากรายการใดมีผู้ชมจำนวน “น้อย” รายการนั้นก็ได้ชื่อว่า “เรตติ้งไม่ดี” เรตติ้งดี ย่อมหมายถึง โอกาสที่จะมีผู้สนับสนุนรายการ (สปอนเซอร์) มาก อีกทั้งเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการตัดสินใจของสถานีโทรทัศน์ในด้านเวลาของการออกอากาศ ทั้งหมดเป็นกลไกทางธุรกิจซึ่งเป็นเรื่องปกติ
แต่ทว่า เรตติ้งในระบบดังกล่าว ไม่ได้บ่งชี้ว่า รายการนั้นส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้ชมหรือไม่ ? เพียงใด ? ดังนั้นรายการโทรทัศน์หลายรายการที่ได้ชื่อว่าส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับมนุษย์ในสังคมไทยก็ต้องจำใจเดินออกจากหน้าจอโทรทัศน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเป็นผลมาจาก เรตติ้งเชิงปริมาณ
หากพิจารณาจากเครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งมีจำนวนกว่า ๑๗ ล้านเครื่องครอบคลุมทุกครัวเรือนในประเทศไทย ประกอบกับเหตุผลและความจำเป็นด้านประโยชน์ทางธุรกิจการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรม โทรทัศน์จึงมีความเข้มข้น รายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่จึงเน้นการเรียก “ลูกค้า” ด้วยการผลิตรายการที่ตอบสนองต่อความรู้สึกของผู้ชม ดังนั้น โทรทัศน์ ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าต่างบานแรกสู่โลกและชีวิตของเด็ก เยาวชน จึงเต็มไปด้วยรายการที่เน้นความสนุกสนานมากกว่าสาระ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความสนุกนั้นเจือปนด้วยเนื้อหาที่มีภาพความรุนแรงที่เกินความเด็กเยาวชนจะใช้วิจารณญาณในการรับชม
รายการวิจัยด้านการแพทย์ยืนยันตรงกันว่า รายการโทรทัศน์ มีผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของมนุษย์ โดยเฉพาะในวัยเด็กเป็นอย่างมาก เช่น Indiana University School of Medicine พบว่า ภาพสแกนสมองของเด็กที่บริโภคสื่อที่มีความรุนแรงเป็นเวลานานนั้น มีการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ความจำ การคิดหาเหตุผล การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ และสมาธิเพียงส่วนน้อย คล้ายกับสมองของเด็กวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและต่อต้าน ส่วนภาพสแกนสมองของเด็กที่บริโภคสื่อที่มีความรุนแรงน้อยพบว่าการทำงานของสมองส่วนหน้ามีประสิทธิภาพดี
ดังนั้น เรตติ้งในเชิงคุณภาพ หรือที่เรียกว่า การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ที่ประกอบด้วย การจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุของผู้ชม และ การประเมินคุณภาพด้านเนื้อหาเพื่อพิจารณาว่ารายการนั้นให้ความรู้ในเรื่องใดจึงได้เกิดขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการดังกล่าวในรูปของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ผ่านมา
เป้าหมายหลักของเรตติ้งเชิงคุณภาพก็คือ การมุ่งให้เกิดเครื่องมือสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองในการเลือกรับสื่อที่เหมาะสมกับวัยของบุตรหลาน อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนรายการโทรทัศน์สร้างสรรค์ที่มีคุณภาพด้านการเรียนรู้ให้มีจำนวนมากขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ ทั้งหมด เป็นไปเพื่อมุ่งคุ้มครองเด็กเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังของชาติต่อไปในอนาคต
กลไกที่ถือหัวใจสำคัญของระบบนี้ ก็คือ การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดเรตติ้งหลังการออกอากาศ คู่ขนานไปกับการจัดเรตติ้งก่อนออกอากาศโดยสถานีโทรทัศน์และผู้ผลิต ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ ถึง 3 ทิศทาง คือ
1.ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ชมและผู้ผลิตในการพัฒนาเกณฑ์ในการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ไปพร้อมกัน
2.ทำให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีบทบาทในฐานะพลเมืองที่สามารถร่วมส่ง “เสียง” แสดงความคิดเห็น หรือ ความต้องการไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องได้ และ 3.ตัวเลขข้อมูลในการจัดเรตติ้งจากภาคประชาชนสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงปริมาณของผู้ชมรายการเท่ากับว่า ได้ทั้งเรตติ้งเชิงปริมาณของผู้ชมรายการเท่ากับว่า ได้ทั้งเรตติ้งเชิงปริมาณและเรตติ้งเชิงคุณภาพพร้อมกัน ที่สำคัญก็คือ ฐานข้อมูลดังกล่าวได้มาจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง
ผลของการประชุมของคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปของการทำงานเรื่องนี้ก็คือ การทดลองใช้ระบบการจัดเรตติ้งในระยะที่ ๒ เป็นเวลา ๔ เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๐ ถึง เดือนธันวาคม ๒๕๕๐ นั้นหมายถึงว่า ในช่วงนี้เป็นกระบวนการที่ทดลองให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์อย่างเต็มรูปครั้งแรกในประเทศไทย
ช่องทางกลางในการร่วมจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์อยู่ใน www.me.or.th ซึ่งเป็นเว็บไซด์กลางของการจัดเรตติ้งภาคประชาชน ในเว็บไซต์มีข้อมูลและวิธีการร่วมจัดเรตติ้งทั้งในรูปแบบของกระดาษ รูปแบบของ SMS ที่สำคัญก็คือ สามารถจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที
ระบบเรตติ้งใหม่นี้ ไม่ได้ปฏิเสธระบบเรตติ้งเชิงปริมาณ แต่กำลังพยายามทำให้เกิด เรตติ้งเชิงปริมาณไปพร้อมกับเรตติ้งเชิงคุณภาพ เพราะสื่อโทรทัศน์เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำให้เกิดการเรียนรู้ให้กับมนุษย์ในสังคมไทย อย่างน้อย เรตติ้งใหม่นี้ ก็เป็นเครื่องมือให้กับพ่อแม่ในการเลือกรับสื่อที่เหมาะกับวัยของคุณลูกๆ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ที่สำคัญ ฐานข้อมูลทั้งหมดมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมไทย
สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-22980500 ต่อ 1222
เรื่องโดย : อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
Update 25-07-51