เยี่ยมบ้านสำโรง อีกชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
บ้านสำโรง ชุมชนเข้มแข็ง ยึดหลัก 8 ก.พัฒนาชุมชน
บ้านใคร ใครก็รัก เมื่อรักจึงรวมตัวพัฒนา และร่วมกันกลายเป็นชุมชนที่น่าอยู่น่าจะเป็นการอธิบายแนวคิดง่ายๆ เกี่ยวกับโครงการ "ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่" ที่มีชุมชนเกือบทั่วประเทศมาร่วมเดินทางในแนวคิดเดียวกัน โดยเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ จนเกิดกฎกติกาและมาตรการต่างๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นระเบียบการจำหน่ายสุรา มาตรการงานบุญและประเพณีปลอดเหล้า ลดใช้สารเคมี คัดแยกขยะ เป็นต้น
ถ้าพูดถึงคำว่าโครงการ อาจจะคิดว่า นำนโยบายจากภาครัฐไปสู่ชุมชน แต่การร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่นั้น มีความแตกต่างออกไป เพราะภาครัฐไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่ได้เป็นศูนย์กลาง แต่สมาชิกในชุมชนเป็นคนคิด คนสร้าง คนร่วมกันทำ
ตั้งแต่ปี 2553-2556 จนปัจจุบันมีโครงการ "ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่" 1,487 โครงการ แบ่งเป็นภาคเหนือ 541 โครงการ ภาคกลาง 128 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 364 โครง การ และภาคใต้ 454 โครงการ และยังมีต้น แบบบริหารจัดการชุมชนเป็น "ศูนย์เรียนรู้" ในด้านต่างๆ ซึ่งจะมีทั้งความเหมือนความต่างของแต่ละพื้นที่ เพราะโครงการเหล่านี้ ถูกคิดให้เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือขึ้น พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมชุมชนที่ทำงานอย่างเข้มแข็งและเกิดประสิทธิผลขึ้น
โดยพบว่า ปัจจัยความสำเร็จ เกิดจากกลไกหลัก 8 ก. ได้แก่ 1.แกนนำ กลุ่ม/องค์กร 2.กัลยาณมิตร 3.กองทุน 4.การจัดการ 5.การเรียนรู้ 6.การสื่อสาร 7.กระบวนการพัฒนา และ 8.กฎกติกา
เมื่อพูดถึงความสำเร็จของแต่ละพื้นที่ นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. อธิบายว่า เกิดขึ้นจากมีหลัก 8 ก. บวกกับกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง และผสมกับการมีส่วนร่วมของประชากรในชุมชน โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจาก การเปลี่ยนทัศนคติของผู้นำชุมชน ที่มีส่วนช่วยดึงให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนได้มาก หากพื้นที่ใดมีแกนนำที่เข้มแข็ง ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดกิจกรรมง่ายขึ้น
"ที่ผ่านมา สสส.เป็นเพียงหน่วยงานที่กระตุ้นและช่วยเหลือด้านข้อมูลต่างๆ ส่วนแนวคิดเป็นของพื้นที่ ดังนั้น จึงไม่กำหนดว่า แต่ละชุมชนต้องทำอะไร แต่เป็นหน้าที่ของชุมชน ที่จะหาปัญหาของตนเอง เพื่อนำมาสู่แนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน แต่สุดท้ายชุมชนส่วนใหญ่ก็จะพบคำตอบว่า การทำมาหากินด้วยเศรษฐกิจพอเพียง การลดปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพ ทั้งเหล้า บุหรี่ หรือเพิ่มการออกกำลังกาย จะทำให้ชุมชนมีความสุขขึ้นได้"
ตัวอย่างพื้นที่ จ.สุรินทร์ ใน อ.จอมพระ และบ้านสำโรง อ.เมือง พบสิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กัน คือ การจัดการชุมชนมีหลัก 8 ก. เช่น ใน อ.จอมพระ จะมีครัวเรือนที่เลี้ยงสุกรทำให้เกิดความรำคาญจากกลิ่นของมูลสัตว์ ก็จะใช้น้ำหมักมาราดลดกลิ่น หรือย้ายคอกสัตว์ไปไว้ในนาข้าว และระบบจัดการขยะ จนเกิดฐานการเรียนรู้ ได้แก่
1.ฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 2.ฐานการเรียนรู้เพิ่มรายได้ 3.ฐานการเรียนรู้ ลดรายจ่าย 4.ฐานการเรียนรู้อาหารปลอดภัย และ 5.ฐานการเรียนรู้การจัดการชุมชน ส่งผลให้ประชาชนมีความเข้าใจ และตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกว่า 80% ปัจจุบันเป็นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการชุมชน โดยเฉพาะการจัดการขยะ
บ้านสำโรง อ.เมือง ก็มีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือการตั้งสภาชุมชน เกิดโครงการ "ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นบ้านสำโรงให้น่าอยู่" ใช้กลไก 8 ก. ขับเคลื่อนเช่นกัน เริ่มจากโครงสร้างกรรมการหมู่บ้านเดิม 15 คน และคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ รับสมัครจิตอาสาโดยไม่จำกัดอายุ เพศ ตั้งเป็นสภาชุมชน 53 คน แบ่งหน้าที่ดูแล ประเมินครัวเรือนน่าอยู่เป็น 6 คุ้ม มีกิจกรรมที่เกิดขึ้น เช่น การปลูก
ผักปลอดสารอย่างน้อย 5 ชนิด คัดแยกขยะ และดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อม ลด ละ ปลอดเหล้า ไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาท การร่วมประชุม และพัฒนาหมู่บ้านทุกครั้ง
บ้านสำโรง ทำให้ครัวเรือนปลูกผักปลอดสารครบ 5 ชนิด 100% คัดแยกขยะ 87.86% ปลอดเหล้าไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท 31.21% ไม่มีลูกน้ำยุงลาย 30.05% ร่วมกิจกรรมหมู่บ้าน 86.12% อีกทั้งยังขยายผลการดำเนินงานไปยังโรงเรียน โรงพยาบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ทำโครงการต่างๆ อาทิ อาหารกลางวัน รั้วผักกินได้ แปลงเกษตร 1 ไร่ 1 แสนอีกด้วย
ตัวอย่างหนึ่งจากการมีสภาชุมชนที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง ของบ้านสำโรง ที่ชัดเจนคือ ชาวชุมชนที่เคยว่างงานและเมาเหล้าไปวันๆ ก็เริ่มเปลี่ยน จากงานบุญ งานอวมงคล ที่เคยเลี้ยงเหล้า เมื่อมีกติการ่วมกันก็ไม่มีเหล้า คนในชุมชนก็ชักชวนให้เลิกเหล้า เมื่อเลิกก็มีอาชีพมารองรับ เช่น เลี้ยงกบ ทำให้เกิดรายได้ และเลิกเหล้าถาวรด้วย
อีกตัวอย่างพื้นที่ ต.กองควาย จ.น่าน ก็พบจุดแข็ง "ผู้นำ-ความร่วมมือ-วัด-ประเมินสานต่อ" มีโครงการที่น่าสนใจ คือ "อาสาสมัครเยาว์วัยใส่ใจผู้สูงอายุ" หรือ อผส.น้อยมีจุดแข็ง 5 ด้าน ได้แก่
1.ผู้นำเข้มแข็ง คนในชุมชนมีจิตอาสา2.ความร่วมมือระหว่างผู้สูงอายุ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ร.พ.สต.) กองควาย และโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร โดยประสาน ร.พ.สต.กองควาย ขอความรู้ในการดูแล และขอรายชื่อผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ใน 3 หมู่บ้านใกล้เคียงกับโรงเรียนรวม 13 คน แล้วออกดูแลผู้สูงอายุเดือนละ 2 ครั้ง 3.วัดเป็นศูนย์กลางการทำงาน 4.ประเมินโดยใช้แบบสำรวจ พบว่าคนในชุมชนเห็นด้วยกับโครงการ ครอบครัวนักเรียนสนับสนุน และ 5.การสานต่อการดำเนินงานโดย อผส.น้อยพี่สอนน้อง ทำให้การดำเนินงานมีความยั่งยืน ซึ่งปีนี้จะขยายความร่วมมือกับสถานศึกษาอื่นๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุให้ครบทั้ง 12 หมู่บ้าน
น้องน้ำฝน คำชมภู วัย 12 ปี หนึ่งใน อผส.น้อย เล่าว่า ภาระหน้าที่เมื่อมีเวลาว่าง คือแบ่งกลุ่ม อผส.น้อย 3 คน และอาสาสมัครผู้สูงอายุ 2 คน ไปดูแลผู้ป่วยสูงอายุ โดยช่วยบีบนวด ป้อนยา ป้อนอาหาร ทำความสะอาดบ้าน สิ่งที่ได้กลับคืนมาคือความภูมิใจ เกิดความสุขจากการทำให้ผู้อื่นมีความสุข แม้จะเป็นเพียงความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม และจากที่ได้สังเกตเด็กๆ ทำงาน ผู้สูงอายุก็ยิ้มแย้มแจ่มใส
แน่นอนว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ แต่หากสำรวจในแต่ละชุมชน เชื่อได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะล้น ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ชุมชนขาดอาชีพ ปัญหาติดสุรา ทะเลาะวิวาท ครอบครัวขาดความอบอุ่น น่าจะกลายเป็นสิ่งที่พบได้ทุกชุมชน
ถึงเวลาต้องลุกขึ้นร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ "ด้วยตัวเอง"
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด