เยียวยาจิตใจ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
กรมสุขภาพจิตเผยผู้ได้รับผลกระทบเหตุระเบิดที่ ปัตตานี เกินครึ่ง ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงความคืบหน้า ภายหลังการลงพื้นที่ดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่ จ.ปัตตานี ว่า ทีม MCATT รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กรมสุขภาพจิต ร่วมกับหน่วยบริการของพื้นที่ได้คัดกรองและให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจเบื้องต้นให้กับผู้ได้รับผลกระทบ รวม 87 คน แบ่งเป็น ผู้ใหญ่ 82 คน (ชาย 26 คน หญิง 56 คน) และเด็ก 5 คน (เด็กผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 3 คน) พบว่า ผู้ใหญ่ จำนวน 43 คน ส่วนใหญ่ มีระดับความเครียด/วิตกกังวลสูง ซึ่งควรมีการติดตามกลุ่มที่มีประวัติรักษาด้านจิตเวชเดิม และผู้ที่มีความเครียดจากปัญหาส่วนตัวอยู่เดิม สำหรับกลุ่มเด็ก ยังต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด จากที่พบอาการ มีทั้ง เครียด ซึม เห็นภาพติดตา ผวา กังวลกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์อีก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจะได้รับการดูแลติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้น ทีมได้แนะนำวิธีการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น เช่น การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ รวมทั้งให้ยาคลายกังวลร่วมด้วย ในรายที่มีอาการตึงเครียดมากหรือนอนไม่หลับ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวย้ำว่า วิธีการจัดการปัญหาด้วยตนเอง มีความสำคัญมากที่สุด แนะนำ พยายามให้ใช้ชีวิตประจำวันตามเดิมเท่าที่ทำได้ หรือเป็นปกติมากที่สุด ทั้งในเรื่องการกิน การอยู่ และกิจวัตรประจำวันต่างๆ รวมทั้ง พักผ่อนให้เพียงพอ ปรึกษา พูดคุย เรื่องไม่สบายใจ หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด หรือจากคนที่ไว้ใจ ส่วนผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ อาจปฏิบัติตัว ดังนี้ นอนเป็นเวลา และตื่นให้เป็นเวลา แม้ว่าคืนก่อนหน้านั้นจะไม่หลับ หรือหลับได้น้อยก็ตาม หากเข้านอนแล้วนอนไม่หลับ ให้ลุกจากที่นอนและกลับมานอนเฉพาะเวลาที่ง่วงนอน ก่อนนอนไม่ควรทานอาหารอิ่มจนเกินไป หรือปล่อยให้หิว และไม่ใช้สุรา หรือสารเสพติด เป็นต้น สำหรับกลุ่มเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด หากได้รับการดูแลช่วยเหลือจากครอบครัวก็จะสามารถปรับตัวสู่สภาวะปกติได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงสามารถช่วยได้ โดย รับฟัง เข้าใจและยอมรับความรู้สึกของเขา อธิบายเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น และให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดผลกระทบและจะหายไปได้ ตลอดจนดูแลเอาใจใส่เด็กให้มากขึ้น รวมทั้งพยายามให้พวกเขาทำกิจวัตรประจำวันปกติให้มากที่สุด
ปฏิกริยาการแสดงออกจากการประสบเหตุสะเทือนขวัญของเด็กจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ ขึ้นกับการเจริญเติบโตตามวัยของเขา เช่น เด็กแรกเกิด – 5 ปี เด็กจะแสดงอาการกลัวการแยกจากพ่อแม่ ไม่อยู่คนเดียว เกาะติดพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดไม่ยอมห่าง อาจมีพฤติกรรมร้องไห้ กรีดร้องเสียงดัง หรือ ตัวสั่นลนลาน วิ่งไปมาสะเปะสะปะ หรือมีพฤติกรรมถดถอยไม่สมวัย เช่น กลับมาดูดนิ้ว และปัสสาวะรดที่นอน เด็กอายุ 6-12 ปี จะมีพฤติกรรมแยกตัวหรือก่อกวนคนอื่น เรียนไม่มีสมาธิ มีปัญหาการนอน ฝันร้าย ผวากลัว บางคนจะมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว ซึมเศร้ากังวล หรือบ่นเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ ที่หาสาเหตุไม่ได้
เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป อาจมีเห็นภาพเหตุการณ์ผุดขึ้นมาซ้ำๆ หรือมีความรู้สึกเสมือนเหตุการณ์รุนแรงนั้นหวนกลับมาอีก รู้สึกเฉยชา มึนงง สับสน ซึมเศร้า มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เกเร แยกตัวจากเพื่อน ไม่มีสมาธิ ไม่ยอมไปโรงเรียน มีปัญหาการนอน ฝันร้าย หลีกเลี่ยงสถานที่หรือสิ่งเตือนใจให้นึกถึงเหตุการณ์ ซึ่งเหล่านี้ ครอบครัวและผู้ใกล้ชิด ต้องช่วยกันคอยสังเกตและให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการได้ที่ โรงพยาบาลจิตเวช หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว