เยาวชน Gen A พลังจิตอาสา ช่วยเปลี่ยนประเทศ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เยาวชน Gen A พลังจิตอาสา ช่วยเปลี่ยนประเทศ thaihealth


ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ที่ผ่านมาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต  ได้เริ่มใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับโครงการจิตอาสาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศแล้วเช่นกัน อย่างโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย (Gen A : Active Citizen)


ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิธรรมดี ได้ร่วมกับ บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เดินหน้าสานต่อ โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย 2559 (Gen A 2016) นับเป็นปีที่ 5 ภายใต้แนวคิด "พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ" และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Active Citizen


เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ใช้ทักษะและศักยภาพของตัวเองในการเปลี่ยนแปลงสังคม  ซึ่งปีที่ผ่านมามีตัวอย่างความสำเร็จของเยาวชนที่ใช้ความรู้ความสามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นโครงการต้นแบบให้หน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการนำนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ได้แก่ โครงการเยาวชนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน (Eco Students) จากโรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีย์อนุสรณ์ ซึ่งได้พัฒนานวัตกรรมเรือถีบเติมอากาศ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำเสียในชุมชน


"น้องตี้-ธนโชติ ศรีกุตา"  เจ้าของนวัตกรรมเรือถีบ เล่าว่า "นวัตกรรมชิ้นนี้ผมสร้างขึ้นจากความชอบส่วนตัว แล้วนำสิ่งนั้นมาช่วยแก้ปัญหาในชุมชน จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมชิ้นนี้เกิดจากการที่ผมเห็นปัญหาน้ำเสียในชุมชน แล้วอยากจะช่วยแก้ไขให้ดีขึ้น บวกกับความที่ผมเป็นคนชอบปั่นจักรยาน จึงได้ออกแบบนำจักรยานมาแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยใช้กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นต้นแบบในการออกแบบนวัตกรรม จากนั้นก็พัฒนาต่อยอดเรือถีบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ผมค้นพบตัวเองว่ามีความสนใจด้านวิศวกรรม จึงสนใจที่จะเรียนต่อในด้านนี้และผมหวังว่าในอนาคตจะได้ใช้ความรู้ความสามารถกับหัวใจจิตอาสาของผมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างประเทศของเราให้น่าอยู่มากขึ้นครับ"


เยาวชน Gen A พลังจิตอาสา ช่วยเปลี่ยนประเทศ thaihealth


โดยกระบวนการแก้ไขปัญหาของ Eco students  เป็นการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ เริ่มจากแหล่งต้นน้ำคือคลองประเวศบุรีรมย์ที่ไหลเข้าสู่คลองศาลาลอยและบ้านเรือนในชุมชน จนถึงส่งน้ำเข้าสู่คลองมะขามเทศ และเข้าสู่โครงการแก้มลิงในพระราชดำริ (บึงรับน้ำหนองบอน) ทำเป็นกระบวนการได้คือ  1. เริ่มจากน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ใช้โครงการพระราชดำริน้ำดีไล่น้ำเสีย จากคลองประเวศบุรีรมย์ไล่น้ำเสียจากคลองศาลาลอย 2. การจัดการน้ำในครัวเรือนที่เกิดจากการชะล้างร่างกาย ซักล้างต่างๆ ไหลสู่แม่น้ำลำคลองและบึงรับน้ำหนองบอน ด้วยการส่งเสริมการทำผลิตภัณฑ์จาก EM และส่งเสริมการใช้ EM เช่น น้ำยาล้างจานจาก EM น้ำยาล้างห้องน้ำจาก EM และผลิตภัณฑ์สบู่ แชมพูจากสมุนไพรการทำถังดักไขมันประจำบ้าน โดยส่งเสริมทำใช้เอง เพื่อดักไขมันก่อนไหลลงท่อน้ำ   การสร้างระบบบำบัดน้ำอย่างง่ายใช้ในครัวเรือนเพื่อนำน้ำมาใช้ใหม่    การบำบัดน้ำด้วย ถังหมัก EM ระบบหยดตามริมคลอง ใช้ระบบธรรมชาติบำบัดตามแนวพระราชดำริ เช่น จอกหูหนู ต้นกก นำแนวพระราชดำริเครื่องกรองน้ำธรรมชาติ เช่น การบำบัดน้ำด้วยผักตบชวา การเติมออกซิเจนให้น้ำด้วยเรือเติมออกซิเจน กังหันน้ำชัยพัฒนา การปรับปรุงดินเสียที่เกิดจากน้ำเน่าเสีย ตามโครงการแกล้งดิน และโครงการชั่งหัวมัน การผลิตและส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์จากเศษวัชพืชและของเหลือใช้ เช่น ปลูกเห็ดจากวัชพืช ถ่านจากผักตบชวา ปุ๋ยจากผักตบชวา และ 3. น้ำจากคลองที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูไหลเข้าสู่โครงการแก้มลิง ณ บึงรับน้ำหนองบอน  โดยกลุ่มเยาวชนเป็นผู้ศึกษาประเด็นตามความสนใจ  ความถนัดและใช้ความรู้จากโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชน โดยมีครูที่ปรึกษาและปราชญ์ชุมชน คอยช่วยเหลือ แนะนำ ติดตามและประเมินผลการทำงาน


ด้าน ดร.น.พ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โครงการ Active Citizen นี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ โดยมีพันธมิตรร่วมงานกว่า 15 องค์กร  สถาบันการศึกษากว่า 55 สถาบัน และมีเยาวชนเข้าร่วมสร้างสรรค์โครงการกว่า 5,000 คนจากทั่วประเทศ เป็นโครงการที่หลากหลายทั้งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือสังคม ร่วมสร้างชุมชนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งเชื่อว่าพลังของเยาวชนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หากได้รับการส่งเสริมให้คิดบวกอย่างสร้างสรรค์ และการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียนจากประสบการณ์จริงนั้น เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การเป็นสังคม Active Citizen ได้อย่างแท้จริง


ส่วนทาง นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี บอกว่าปีที่ผ่านมา เยาวชนในโครงการ Gen A กว่า 150 คนลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจส่งต่อความดีด้วยงานจิตอาสาในพื้นที่ต่างๆ รวม 28 โครงการทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันโครงการเหล่านี้ยังได้ดำเนินต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 4.0 โครงการ Gen A พร้อมเป็นเวทีสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ฝักใฝ่ในกิจกรรมทำดีทุกรูปแบบ 


สำหรับปีนี้โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย 2559 (Gen A 2016) เปิดโอกาสให้เยาวชนที่อยากช่วยเหลือสังคมและพร้อมที่จะทำกิจกรรมจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการและจะได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปหลักสูตร "พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ" เยาวชนที่สนใจร่วมขบวนการสตาร์ตอัพจิตอาสา Gen A 2016 ได้ โดยส่งรายละเอียดที่ www.facebook.com/dodclub

Shares:
QR Code :
QR Code