เยาวชน ‘อาสาพายิ้ม’ จากผู้ให้สู่ผู้ด้อยโอกาส
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า
"ผู้ให้" ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ในสิ่งที่ตรงกับความต้องการของผู้รับ สิ่งตอบแทนกลับคืนมักจะเป็นรอยยิ้ม หรือเสียงหัวเราะด้วยความยินดี สร้างความอิ่มเอมใจทั้งสองฝ่าย
เฉกเช่นเยาวชนจาก อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย จำนวน 27 คน ที่รวมตัวกันขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำ "โครงการอาสาพายิ้ม" ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เด็กและชุมชน เกิดรอยยิ้มอย่างมีความสุข
อริศรา พะชะ ผู้ร่วมโครงการอาสาพายิ้ม เล่าว่า สมาชิกทั้งหมดเป็นนักเรียนในโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ และส่วนหนึ่งยังอาศัยอยู่ในมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่อุปการะช่วยเหลือเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กด้อยโอกาส รวมถึงคนชรา ในระบบครอบครัว ด้วยการพัฒนา เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านจิตใจ เพื่อเตรียมพร้อมให้เผชิญโลกกว้าในวันข้างหน้า จึงถือได้ว่าแม้กระทั่งเด็กด้อยโอกาสเอง เมื่อมีโอกาสหยิบยื่นน้ำใจให้คนอื่น พวกเขาก็ไม่รีรอที่จะทำ
ทุกเดือนแกนนำหลัก ซึ่งเป็นเด็กรุ่นพี่เรียนอยู่ระดับชั้น ม.5-6 ประมาณ 15 คน จะประชุมร่วมกับสมาชิกที่มีเด็กมัธยมต้นด้วย เพื่อวางแผนเสนอกิจกรรมประจำเดือน ว่าจะทำอะไรบ้าง บางครั้งอาจจะยังไม่มีงบประมาณ หรือพอมีงบอุดหนุนจากภายนอกแต่ไม่เพียงพอ เพราะงบประมาณจาก สสส. จะถูกกันไว้เป็นค่าเดินทาง ค่าอาหารระหว่างการทำงาน ทางทีมงานก็จะช่วยกันจัดหางบ เพิ่มเติม เช่น ขอรับบริจาคตามตลาด มีการเล่นดนตรี ร้องเพลง ร่วมด้วย หลายครั้งมีการออกแบบของที่ระลึก พวงกุญแจ วาดลวดลาย ลงบนเสื้อ แล้วนำไปจำหน่ายหารายได้
กิจกรรมในโครงการมีตลอดทั้งปี อย่างช่วงวันวาเลนไทน์ ก็มีกิจกรรมอบรมเรื่องเพศ และยาเสพติด ร่วมกับชุมชน เชิญวิทยากรจากภายนอก อาทิ หมอ พยาบาล มาให้ความรู้ บางช่วงมีการ จัดเล่นดนตรี ร้องเพลง ศิลปะ อบรมศีลธรรม หรือเวชภัณฑ์ยา เครื่องกันหนาว ออกแจกเยาวชนและชุมชนบนดอย ที่เป็นพื้นที่ขาดแคลน พร้อมกับช่วยปรับปรุงอาคารเรียน ทาสี ทำความสะอาด บางเดือนนอกจากทำความสะอาดโรงเรียนแล้ว ยังมีกิจกรรมกีฬา เสริมสร้างความสัมพันธ์ ลดช่องว่างระหว่างเยาวชนอาสาพายิ้ม กับเยาวชนในพื้นที่ที่ได้เป็นอย่างดี
อริศรายังบอกว่า นอกจากการให้ จะทำให้ตนเองมีความสุขแล้ว การทำงานในโครงการนี้ยังเป็นการฝึกความอดทน โดยเฉพาะเวลาประชุมความความคิดเห็นของแต่ละคนอาจไม่ตรงกัน ต้องคอยควบคุมอารมณ์ตนเอง และยังได้เรียนรู้การทำงาน การเข้าหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมทีม ที่มีทั้งเยาวชนจากในชุมชน และเยาวชนชายล้วนในมูลนิธิบ้านนกขมิ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คน ต่างเพศ ต่างประสบการณ์ จะมีความคิดไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกันยังต้องออกไปพบปะเพื่อทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก เยาวชน หรือชุมชน ที่อยู่ห่างไกลออกไปด้วย
ขณะที่ กัญจิราภรณ์ หินเพชร ผู้ร่วมโครงการอีกรายหนึ่ง เล่าว่า เธอรับผิดชอบหน้าที่ช่างภาพเป็นหลัก ทุกครั้งที่มีประชุมหรือทำกิจกรรม จึงไม่เคยขาด แต่ต้องยอมรับว่าทำให้พ่อแม่เป็นห่วงความปลอดภัยในการเดินทาง เพราะบ้านอยู่ห่างจากมูลนิธิบ้าน นกขมิ้น ซึ่งใช้เป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรม กว่า 10 กิโลเมตร หากทั้งคู่ก็ไม่ได้ห้ามปราม เพราะเห็นว่าเป็นการทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
"เวลาออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ ถ้าเป็นกิจกรรมหลัก ประเภทพัฒนาชุมชน โรงเรียน อาจเป็นหมู่บ้านห่างไกลในจังหวัด หรือต่างจังหวัด จะใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ประมาณ 1 สัปดาห์/กิจกรรม และการได้เห็น ได้คลุกคลีในพื้นที่ ก็ทำให้มองเห็นคุณค่าของชีวิตและสิ่งของต่างๆ มากขึ้น บางอย่างเราทิ้งแต่ยังมีค่าสำหรับ คนอื่น เสื้อผ้าที่ไม่ใช้แทนที่จะกลายเป็นผ้าขี้ริ้ว หรือทิ้งไปเปล่าๆ นำมาให้คนอื่นที่ต้องการใช้อาจมีค่ามากกว่า" ช่างภาพสาว สะท้อนความคิดเห็น
ด้าน จิตราภรณ์ ปอสายคำ ที่ปรึกษาโครงการอาสาพายิ้ม กล่าวว่า โครงการนี้เปิดโลกทัศน์ของเด็กในมูลนิธิ ให้รู้จักการทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชนข้างนอก และรู้จัก "การให้" นอกเหนือจากการเป็น "ผู้รับ" ที่พวกเขาได้รับอยู่ ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมโครงการทุกคนได้คิด วางแผน ลงมือปฏิบัติทุกขั้นตอนด้วยตนเอง
การได้ลงพื้นที่ พบเห็นสถานการณ์จริง ไม่เพียงทำให้พวกเขาเกิดจิตอาสามากขึ้น หากยังเกิดความภาคภูมิใจ ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองที่สามารถทำประโยชน์ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ ในสังคมได้