เยาวชนไอเดียใส ดีไซน์ปิ๊งส์ ชุมชนปิ๊งส์
“ปิ๊งส์” สสส. ชวนเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการออกแบบ เข้าร่วมโครงการ “ดีไซน์ปิ๊งส์ชุมชนปิ๊งส์” เพื่อนำการออกแบบไปพัฒนาชุมชนในให้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน พร้อมเรียนรู้ประสบการณ์การออกแบบจริงจากนักออกแบบขั้นเทพของเมืองไทยอย่างใกล้ชิด ก่อนผู้ชนะจะเลิศคว้าเงินรางวัลกว่า 1 แสนบาท เพื่อสร้างอัตลักษณ์ชุมชน
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ที่เดอะสไตล์ บาย โตโยต้า สยาม โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. ร่วมกับ นิตยสาร art4d จัดโครงการประกวดการออกแบบเพื่อชุมชน และร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อเวิร์กช็อปดีไซน์ฮีโร่ ตอน ‘ดีไซน์ปิ๊งส์ชุมชนปิ๊งส์’ เพื่อค้นหาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการออกแบบ สร้างสรรค์ พัฒนาองค์ความรู้หรือสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในชุมชน
โดยใช้กระบวนการออกแบบมาเป็นจุดเปลี่ยนในการทำให้สิ่งที่มีอยู่เดิมมีความน่าสนใจหรือมีประโยชน์ขึ้น โดย นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า “ดีไซน์ปิ๊งส์ชุมชนปิ๊งส์” เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีใจรักการออกแบบได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอัตลักษณ์ของชุมชน โดยครั้งนี้จะมุ่งเป้าไปเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ทั้งในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการก่อน เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องที่ให้เกิดมูลค่าและความสามารถในการสร้างตัวตนอย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการออกแบบ ปรับปรุง
“โดยอาจจะเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ปรับบริบทของชุมชนใหม่ให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจ ให้กับเยาวชนในชุมชนนั้นๆ ให้เกิดการแสวงหาในเรื่องของจิตอาสาที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดีให้กับชุมชนของตัวเอง โดยแนวคิดเหล่านี้จะทำให้ชุมชนปิ๊งส์ขึ้นมาได้ จากไอเดียปิ๊งส์ๆ เพื่อชุมชนปิ๊งส์ๆ” นายมานพ กล่าว
ซึ่งนายมงคล พงศ์อนุตรี กรรมการผู้จัดการ คอร์ปอเรชั่น โฟร์ดี จำกัด กล่าวว่า เวิร์กช็อปดีไซน์ฮีโร่ ตอน ‘ดีไซน์ปิ๊งส์ชุมชนปิ๊งส์’ ต้องการเยาวชนที่มีใจรักในการออกแบบเลือกโครงการที่ตนสนใจ ชอบ และถนัด มานำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งใดก็ได้ในชุมชน ที่สามารถนำการออกแบบเข้าไปสร้างสรรค์ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนา หรือแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนนั้นๆ ได้
“โดยชุมชนที่เยาวชนเลือกขึ้นมานั้นจะมีเพียง 10 ทีมเท่านั้น ที่จะได้รับทุนสนับสนุนในการทำผลงานต้นแบบ แต่จะมีรางวัลชนะเลิศเพียง 1 รางวัล เท่านั้นที่จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท ไปเพื่อผลิตเป็นผลงานจริงในชุมชนเพื่อเป็นชุมชนนำร่องที่ดีที่จะเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป และหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะขยายโครงการต่อเนื่องไปยังชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศได้” นายมงคล กล่าว
กรรมการผู้จัดการ คอร์ปอเรชั่น โฟร์ดี จำกัด กล่าวอีกว่า เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยให้คนออกแบบหันมาสร้างงานเพื่อชุมชนมากขึ้น เพราะโดยปกติคนทำงานออกแบบเพื่อชุมชนแบบนี้ ไม่ได้ถูกนำไปพัฒนาให้ชุมชนต่อ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่การออกแบบดีไซน์ปิ๊งส์ชุมชนปิ๊งส์จะเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะทำให้องค์กร หน่วยงาน รวมทั้งชุมชนอื่นๆ ได้นำไปปรับใช้และทำเพื่อชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนา และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้นๆ ได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. กล่าวว่า สำหรับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ทั้งในและนอกสถานศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย-อุดมศึกษา หรือเทียบเท่า อายุระหว่าง 15-25 ปี ภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีความเข้าใจและมีทักษะในเรื่องการออกแบบเบื้องต้น
สนใจสามารถเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการกับโครงการได้โดยต้องจัดทีมขึ้นมาจำกัดทีมละไม่เกิน 3 คน แล้วส่งใบสมัครข้อมูลสมาชิกในทีม พร้อมเอกสารรายละเอียดโครงการความยาวไม่เกิน 1 หน้า a4 พร้อมภาพสเก็ตช์ต้นแบบของงานที่จะปรับปรุงขนาด a4 และภาพสเก็ตช์หรือภาพถ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการจำนวน 5-10 ภาพ พร้อมคลิปวีดีโอเกี่ยวกับโครงการและแนวคิดในการออกแบบที่ต้องการนำเสนอความยาวไม่เกิน 3 นาทีใน youtube มาที่ นิตยสาร art4d เลขที่ 81 สุขุมวิท 26 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 หรือ ทางอีเมล์ที่ [email protected]
ส่งผลงานมาภายในวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 20 ทีม จะได้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ระหว่างวันที่ 12–14 สิงหาคม 2554 ณ the style by toyota สยามสแควร์ โดยมีนักออกแบบจาก art4d สถาปนิก, มัณฑนากร, นักออกแบบภายใน, นักออกแบบชุมชน, นักนิเวศน์ชุมชน, กราฟฟิกดีไชน์, สถาปัตยกรรมชุมชน มืออาชีพเป็นที่ปรึกษาในการนำกระบวนการออกแบบมาใช้ในการสร้างสรรค์โครงการ ทั้งพัฒนาความรู้ ความแหลมคมของความคิด ต่อเติมไอเดียและอื่นๆ ให้มากขึ้นตลอดการทำงาน
“โดยเกณฑ์การตัดสินที่คณะกรรมใช้ในครั้งนี้จะเน้น 1.ความคิดสร้างสรรค์ creativity – ความสร้างสรรค์ ความสดใหม่ ความแปลกใหม่ของผลงาน 2.การสื่อสาร communication – ความสามารถในการสื่อสารความคิด การโน้มน้าวให้กลุ่มเป้าหมายกระทำตามจุดประสงค์ของการรณรงค์ผ่านผลงานได้อย่างชัดเจน 3.แนวคิดหรือคอนเซ็ปต์ concept – ความตรงประเด็นระหว่างเนื้อหาใจความกับหัวข้อการประกวด และ 4.สุนทรียะ aesthetic – ความสวยงาม ความสมบูรณ์ ความกลมกลืนกันของงาน เพื่อความเป็นธรรมในการส่งผลงานเข้ามา” ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. กล่าว
ทั้งนี้ นางสาวกษมา แย้มศรี สถาปนิกนักออกแบบเพื่อชุมชน กล่าวว่า ถ้าเยาวชนคนใดต้องการเขียนโครงการดีๆ ให้เริ่มดูสิ่งที่ตนเองสนใจก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นให้คิดว่าสิ่งสนใจนั้นจะไปเชื่อมโยงกับส่วนอื่น ผู้อื่นได้อย่างไร? จะไปช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า? ถึงแม้เยาวชนบางคนจะไม่มีพื้นฐานในด้านการดีไซน์อะไรก่อนแต่มีใจรักการออกแบบอย่ารอช้า โครงการนี้เป็นเหมือนเวทีที่เปิดแล้ว ตรงนี้ถือเป็นการฝึกทักษะที่ดี เป็นงานที่สามารถนำไปต่อยอดได้ ไม่มีงานใดที่ยากหากเราตั้งใจ โดยหัวใจสำคัญของการออกแบบชุมชนนั้น อยู่ที่ถ้าเราพอใจคนอื่นพอใจ อาจจะไม่ต้องถึงกับร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ มันก็จะสามารถทำให้งานดีไซน์เริ่มต้นด้วยดี และต่อยอดทุกอย่างได้ด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการและเจ้าหน้าที่แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด (จ๋า) โทรศัพท์ 080-006-6787, 083-806-8755 : นรินทร์ ใจหวัง (เหมียว) โทรศัพท์ 084-110-3837 : กนกออม บุญมาเลิศ (เมย์) โทรศัพท์ 085-482-2342
ที่มา: แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์