เยาวชนหนุนกฎหมายบุหรี่ฉบับใหม่ วอนผู้ใหญ่อย่าพาประเทศไทยถอยหลัง
เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น “ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. … (พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก) ซึ่งมีข้าราชการ นักกฎหมาย นักวิชาการ และประชาชนเข้าร่วมรับฟังกว่า 1,500 คน
โดยภายหลังพิธีเปิด ได้มีเครือข่ายเยาวชนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายเยาวชนแก๊งค์ปากดี กว่า 50 คน ได้ยื่นแถลงการณ์และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการติดบุหรี่ ซึ่งนพ.พรเทพ ได้ออกมารับแถลงการณ์ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง และผู้ไร้กล่องเสียง ซึ่งเป็นเหยื่อของการสูบบุหรี่ ได้มาร่วมให้ความเห็นสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ด้วย
โดยน.ส.จิราภรณ์ กมลรังสรรค์ เครือข่ายเยาวชนแก๊งค์ปากดี กล่าวว่า ในฐานะ เยาวชน ตนหวังอยากให้สังคมไทยก้าวหน้าไปในทางที่ดีขึ้น กฎหมายคุมบุหรี่ฉบับใหม่นี้ จะเป็นตัวพิสูจน์ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความจริงใจและมีความรับผิดชอบใน สุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเยาวชนไทย หรือไม่ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทย พบว่ามีวัยรุ่นอายุ 15 – 18 ปี 340,000 คนติดบุหรี่ในปี 2552 และเพิ่มขึ้นเป็น 407,809 คนในปี 2554 ซึ่งตามสถิติที่ผ่านมา คนไทยที่ติดบุหรี่แล้วมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ ที่เหลือจะติดไปจนตลอดชีวิต จึงขอให้สงสารเพื่อนเยาวชนด้วยเถอะ
น.ส.จิราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า อีกมาตราที่จะมีผลดีต่อเด็กอย่างมาก คือ มาตรา 29 ที่ กำหนดว่า การขายผลิตภัณฑ์ ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต ต้องมีขนาด บรรจุไม่ต่ำกว่ายี่สิบมวน ทั้งนี้ต้องขายทั้งซอง ห้ามแบ่งขาย ซึ่งมาตรานี้ อาจให้จะทำให้ร้านขายบุหรี่มีกำไรน้อยลง แต่ในทางกลับกัน ร้านค้าจะได้ร่วมทำกุศล ช่วยให้ลูกหลานไทยติดบุหรี่น้อยลง เพราะลูกค้าส่วน ใหญ่ของบุหรี่ที่ขายแบบแบ่งซอง คือ เยาวชนซึ่งมีเงินในกระเป๋าจำกัด การขายแบ่งซองจึงเท่ากับ เป็นการสนับสนุนให้เด็กเข้าถึงและทดลองสูบบุหรี่ได้ง่าย จนเกิดการติดบุหรี่ขึ้น ซึ่งจากการสำรวจเมื่อปีที่แล้วของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ร้อยละ 88.3 ของเด็กอายุ 15 – 17 ปี สามารถซื้อบุหรี่ที่แบ่งขาย เป็นมวนได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคนไทยตายจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละ 48,244 คน นับเป็นสาเหตุที่สำคัญอันดับที่สองที่ทำให้คนไทยป่วยและเสียชีวิตรองจากสุรา กระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ พบว่า สูงถึง43,600 ล้านบาทหรือ 0.5% ของ gdp
ที่มา : เครือข่ายเยาวชนแก๊งค์ปากดี