เยาวชนร้อง วธ.เข้มโฆษณาเหล้า

แฝงในภาพยนตร์

   

      เครือข่ายเยาวชนบุกกระทรวงวัฒนธรรม ยื่นหนังสือจี้ นิพิฏฐ์เข้มโฆษณาเหล้าห้ามแฝงในภาพยนตร์ เผยผู้สร้างจงใจใส่ฉากน้ำเมา ควรมีจรรยาบรรณบ้าง แนะ วธ.เป็นหัวหอกเชิญค่ายหนังถกหาทางออก พร้อมงัดมาตรการคุมคอนเสิร์ตมีเหล้า-เบียร์ ด้าน เด็กอินดี้คาดหน้าหนาวนี้คอนเสิร์ตแฝงเหล้าโผล่อีกเพียบ ชี้เด็กตีกันทำภาพวงการดนตรีเสื่อม

 

เยาวชนร้อง วธ.เข้มโฆษณาเหล้า

      

       วันนี้ (24 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กระทรวงวัฒนธรรม นายพิริยะ ทองสอน เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน พร้อมด้วยเครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้า (ดีดี๊ดี) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่, มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา, กลุ่มโคตรอินดี้และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กว่า 50 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการเข้มงวดกรณีการจัดแสดงคอนเสิร์ตและฉายภาพยนตร์ ที่แฝงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ทางเครือข่ายฯ ได้นำเสนอคลิปปัญหาวัยรุ่นเมาตีกันในการแสดงคอนเสิร์ต และตัวอย่างภาพยนตร์ที่แฝงโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีนายวิฑูรย์ กรุณา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รับเรื่องแทน

 

        นายพิริยะ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยพบในภาพยนตร์หลายเรื่อง ที่ปล่อยให้มีการแสดงโลโก้และภาพของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ของภาพยนตร์นั้น ทั้งนี้ จากการลองนับฉากที่ปรากฏสินค้าหรือสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาพยนตร์ที่เข้าฉายได้เพียงไม่นาน จำนวน 3 เรื่อง พบว่ามีฉากดังกล่าว 4-6 ฉาก และ มากที่สุดคือ 19 ฉาก ซึ่งพบฉากนานที่สุดถึง 3.28 นาที นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ระหว่างปี 2548-2550 ยังพบว่า ภาพยนตร์ 128 เรื่อง ไม่มีการแสดงโลโก้และภาพของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียง 21 เรื่อง ที่เหลือ 107 เรื่อง หรือ 83.59% ล้วนมีฉากดังกล่าวแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้ หากคิดเฉลี่ยแล้วพบว่ามีโลโก้และภาพของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อภาพยนตร์ 1 เรื่องอยู่ที่ประมาณ 6.30 นาที

      

       เรื่องดังกล่าวกระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่และอำนาจบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ในหมวด 2 ระบุให้มีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กลับปล่อยให้มีการเผยแพร่ภาพไม่เหมาะสม ทั้งนี้ยังเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ระบุว่าห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปรากฏภาพสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ ผ่านสื่อทุกชนิดทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย ทั้งนี้หากกระทรวงวัฒนธรรมไม่ควบคุมเนื้อหาในภาพยนตร์จะทำให้เกิดการจูงใจ โดยใช้ดารานักแสดงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์เพื่อสร้างค่านิยมให้ทดลองดื่มได้ง่าย นอกจากนี้อยากขอร้องให้ผู้สร้างหนังคำนึงถึงข้อกฎหมาย ใส่ใจในกระบวนการผลิต และมีจรรยาบรรณไม่ควรปิดหูปิดตาเพียงเพราะต้องการหารายได้ เนื่องจากผลกระทบตกอยู่ที่ประชาชน ซึ่งผู้ผลิตหนังต้องระวังเพราะมีโทษสูงมากนายพิริยะ กล่าว

      

       เลขาฯ มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวเครือข่ายฯ ขอเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ วธ.กำกับดูแลมิให้ปรากฏสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาพยนตร์ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 2.มิให้มีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงภาพยนต์ 3.ให้ วธ.ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์และผู้กำกับ ภาพยนตร์ในการไม่สนับสนุนโฆษณาแฝงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อย่างเคร่งครัด

      

       สำหรับประเด็นการจัดคอนเสิร์ตที่แฝงการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทางเครือข่ายขอเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ให้ วธ.เป็นเจ้าภาพจัดเวทีระดมความคิดเห็น เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาท ที่ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการแสดงดนตรี หรือคอนเสิร์ต 2.ให้พิจารณากำหนดมาตรการมิให้มีการขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการแสดงดนตรีหรือคอนเสิร์ต 3.กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และ 4.ตรวจสอบการจัดแสดงดนตรีหรือคอนเสิร์ตบังหน้า เพื่อขายหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ในมาตรา 30 และ 32 โดยขอให้มีการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมิให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว

      

       ด้านนายบุรินทร์ แซ่ล้อ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มโคตรอินดี้ กล่าวถึงการจัดงานเทศกาลดนตรี โคตรอินดี้ซึ่งเป็นการจัดคอนเสิร์ตที่มีวัยรุ่นหลากหลายแนวมาร่วมชมคอนเสิร์ต โดยไม่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่ในงานว่า จากการทำแบบสอบถามของผู้ที่เข้ามาชมคอนเสิร์ต 1,000 ตัวอย่างของการจัดคอนเสิร์ตครั้งล่าสุด พบว่า 90% ของผู้เข้าชมคอนเสิร์ตไม่ดื่มเหล้าและไม่ได้สูบบุหรี่ และการจัดคอนเสิร์ตมาตลอดทั้ง 7 ปี ไม่เคยมีเหตุการณ์ที่มีวัยรุ่นตีกัน เพราะคอนเสิร์ตนี้ต้องการทำให้ผู้ปกครองเห็นว่ามีความปลอดภัย โดยไม่มีเหล้ามาเป็นตัวทำลายงาน แต่ในคอนเสิร์ตใหญ่ช่วงหลังมีทุนของสปอนเซอร์จากบริษัทเหล้า-เบียร์มาสนับสนุนเกือบ 100% และมีการจำหน่ายบริเวณรอบข้างรวมถึงในตัวคอนเสิร์ตด้วย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการตีกัน ทำให้วงการเพลง ศิลปินและเทศกาลดนตรีนั้นๆ ติดเป็นภาพลบด้วย ทั้งนี้ คาดว่าช่วงปลายปีจะมีการจัดแสดงคอนเสิร์ตที่แฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกจำนวนมาก โดยไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา ทั้งที่มีคนบาดเจ็บและบางรายถึงขั้นเสียชีวิต

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการออนไลน์

 

 

 

 

update : 24-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ