เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมสืบสานอนุรักษ์เป็ดบ้านนา
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแนวหน้าและแฟ้มภาพ
เยือน‘บ้านนา’ตามหาเป็ดพันธุ์แท้ในตำนานที่ใกล้จะสูญพันธุ์ สสส.ชวนเยาวชนใช้เวลาว่างฟื้นเศรษฐกิจชุมชนสืบสานก่อนสาบสูญ
ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารที่มีอยู่ทั่วประเทศ เอื้อให้แต่ละพื้นที่มีของดีประจำถิ่นอยู่เสมอทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ อาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ ภูมิปัญญา รวมทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์และถิ่นกำเนิด แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป “ของดี” ประจำถิ่นหลายแห่งเริ่มที่จะสูญหายเนื่องจากขาดการสืบสานขยายผลต่อจากคนรุ่นหลัง
ตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนองเป็นชุมชนเล็กๆ ที่เขียวชอุ่มด้วยมีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และจากพืชผลต่างๆ ทางการเกษตรที่ปลูกไว้มาหลายชั่วอายุคน จากชุมชนที่ทำเกษตรกรรมเป็นหลักในอดีตแต่เมื่อความเจริญเข้ามาถึงทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ออกจากบ้านไปเป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม อาชีพทางการเกษตรดั้งเดิมของชุมชนจึงขาดผู้ที่จะมาสืบสานและพัฒนาโดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์พื้นบ้านที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนแห่งนี้มาอย่างยาวนานคือ“เป็ดบ้านนา”ที่นับวันแทบจะหาคนเลี้ยงเป็ดชนิดนี้แทบไม่ได้ ทำให้เป็ดสายพันธุ์บ้านนามีจำนวนลดน้อยลงจนแทบจะหายไปจากชุมชน โดยสาเหตุหลักมาจากการขยายพันธุ์ที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก
ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ของชุมชนแห่งนี้จึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง“กลุ่มอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ประจำถิ่น (เป็ดบ้านนา)”ขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายในการสืบสานอาชีพการเพาะเลี้ยงเป็ดบ้านนา ทั้งเพื่อการอนุรักษ์ไม่ให้สายพันธุ์สาบสูญ เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนเป็ดบ้านนาให้มีมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดก็คือการเลี้ยงเพื่อให้สามารถดำเนินการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ พร้อมกับชักชวนเด็กและเยาวชนให้ได้เข้ามาเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยงเป็ดเพื่อขยายผลไปสู่การสร้างอาชีพที่ยั่งยืนในพื้นที่ผ่านการจัดทำ“โครงการเยาวชนบ้านนา สืบสานการอนุรักษ์เป็ดบ้านนา สัตว์ปีกประจำถิ่น”โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนร่วมกันคิดวางแผนแก้ปัญหาในชุมชน โดยเชื่อมโยงมิติทางสุขภาพเข้ากับวิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาของชุมชนและอนุรักษ์พันธุ์เป็ดแล้ว ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนให้เติบโต พร้อมส่งเสริมให้เยาวชนและผู้สูงอายุ ได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันอีกด้วย
ยุพา คงกระพันธ์ หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ประจำถิ่นเป็ดบ้านนา เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้ร่วมกันทำวิจัยสายพันธุ์เป็ดบ้านนาซึ่งเป็นเป็ดกึ่งเนื้อกึ่งไข่ ที่เดิมชาวจีนที่เข้ามาทำเหมืองแร่ในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ ได้นำเป็ดพันธุ์นี้เข้ามาเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารบริโภคในครัวเรือน และมีชื่อเสียงในเรื่องของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ แต่เป็ดสายพันธุ์มีข้อจำกัดในการดูแลและขยายพันธุ์ทำให้ไม่เป็นที่นิยมในการเพาะเลี้ยง จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2535 พบว่าเหลือเป็ดสายพันธุ์บ้านนาแท้ๆ เพียง 4 ตัว จึงเป็นที่มาของการอนุรักษ์และหาทางเพิ่มจำนวนจนเพิ่มขึ้นเป็น 80 ตัวในปี พ.ศ.2540
“ตอนนั้นก็มีการแจกจ่ายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนนำไปเลี้ยง แต่บางคนก็ไม่ได้มีจิตใจที่จะอนุรักษ์อย่างจริงจังทำให้จำนวนเป็ดไม่เพิ่มขึ้น จึงได้คัดกรองสมาชิกที่จะเลี้ยงอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขของการตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ ในขณะเดียวกันก็ได้ชักชวนเยาวชน บุตรหลานของสมาชิกกลุ่มเลี้ยงเป็ด เข้ามาศึกษาการเพาะเลี้ยงเป็ดบ้านนาที่ศูนย์การเรียนรู้ เพื่อที่จะชวนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมกันสืบสานอนุรักษ์สายพันธุ์เปิดบ้านนาไม่ให้สูญพันธุ์ โดยมีเงื่อนไขว่าสมาชิกต้องไม่นำเป็ดพันธุ์อื่นมาผสมเด็ดขาด และต้องขยายผลการเพาะเลี้ยงให้เป็นเชิงธุรกิจของชุมชนให้ได้ว่าจะต้องใช้เวลานานก็ตาม”ยุพา กล่าว
ปัญหาสำคัญของการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์“เป็ดบ้านนา”เนื่องจากแม่เป็ดเมื่อไข่แล้วจะทิ้งไข่ไม่ยอมฟัก นำไข่มาฟักด้วยเครื่องก็ไม่ได้ผล ต้องอาศัยแม่เป็ดเทศ หรือแม่ไก่ในการฟักไข่ ซึ่งจะต้องใช้เวลานานถึง 30 วัน แต่เมื่อเป็ดบ้านนาโตเต็มวัยจะมีราคาสูงถึงตัวละ 400 บาท ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ขายได้โดยไม่ต้องชั่งน้ำหนัก เพราะมีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์และสร้างชื่อเสียงให้กับ“เป็ดบ้านนา”คือคุณภาพของเนื้อเป็ดที่มีเนื้อนุ่ม สีแดง และมีมันน้อย โดยเป็ดสายพันธุ์บ้านนาจะมีจุดเด่นลักษณะพิเศษแตกต่างจากเป็ดสายพันธุ์อื่นคือ“เป็ดเพศผู้”มีลักษณะเด่นคือจะมีขนสีเขียวตั้งแต่หัวจนถึงกลางคอและมีวงแหวนรอบคอ ขนปีกมีสีเทา ปลายปีกจะมีสีเขียว ลำตัวสีเทาเข้มหรือสีดำด้านบน และด้านล่างสีเทาออกขาว อกมีสีน้ำตาล หางมีสีดำออกสีน้ำเงินปลายหางมีสีขาวแซมแลบออกมา และมีขนม้วนโค้งขึ้น จำนวน 2 เส้นปากมีสีเหลืองส้มหรือเหลืองทอง ขาสีส้มสด หนังสีเหลือง อายุ 5-6 เดือนขึ้นไป ใช้เป็นพ่อพันธุ์ได้น้ำหนักโตเต็มที่ 1.8-2.00 กิโลกรัม
ส่วน“เพศเมีย”ขนที่หัว คอ ปีก ลำตัวและหางมีสีน้ำตาลเข้ม หรือสีลายนกกระจอก หรือสีขาวทั้งตัว ปากและขาสีเหลืองส้มหรือเหลืองทอง จะเริ่มไข่เมื่ออายุ 5 – 6 เดือน น้ำหนักโตเต็มที่ 1.8 กิโลกรัม ให้ไข่ปีละ 3 ชุด ชุดละประมาณ 30 ฟอง แม่พันธุ์จะไม่ฟักไข่จึงต้องใช้เป็ดเทศหรือแม่ไก่ฟักแทน
วันนี้แม้การเพาะเลี้ยงเป็ดบ้านนาอาจจะยังไม่สามารถที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นธุรกิจได้อย่างเต็มตัว เพราะสมาชิกหลายคนต้องประกอบอาชีพหลักของตนเองเพื่อให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หากจะรอให้ภาครัฐมาช่วยเหลือในเรื่องการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ก็จะยิ่งทำให้สายพันธุ์เป็ดพื้นบ้านชนิดนี้หายสาบสูญ แกนนำของกลุ่มอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ประจำถิ่น จึงได้ชักชวนลูกหลานและเด็กๆ ในชุมชนเข้ามาร่วมทำกิจกรรม เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ของเป็ดพื้นบ้าน สามารถสืบสานภูมิปัญญาของท้องถิ่นและยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ห่างไกลจากยาเพสติดด้วยการปลูกฝังพื้นฐาน หรือทักษะอาชีพด้านการเกษตรที่สามารถต่อยอดไปสู่อาชีพที่มั่นคงได้ในอนาคต
ด้าน ด.ช.วิทวัฒน์ จิตรหวังนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนบ้านนา ซึ่งได้มาช่วยเลี้ยงเป็ด กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมตนเองกับเพื่อนๆ จะมีหน้าที่ช่วยหั่นหยวกกล้วยผสมอาหารให้เป็ดวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ส่วนในช่วงเปิดเทอมก็จะมาช่วยเลี้ยงเป็ดในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนหรือในวันหยุด ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงเป็ดบ้านนา และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
“ผมกับกับเพื่อนๆ ที่อยู่ที่นี่ก็จะช่วยกันเลี้ยงเป็ด ให้อาหาร แล้วดูแลวัว หมูด้วย อยู่ที่นี่สนุกดีเพราะได้เจอเพื่อนๆหลายคน ได้เล่นน้ำ เล่นฟุตบอลด้วยกัน และทำให้รู้วิธีเพาะเลี้ยงเป็ดด้วย”
เมื่อมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมสานต่องานอนุรักษ์ ก็สามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับชุมชนแห่งนี้ได้ว่าสายพันธุ์สัตว์ปีกพื้นบ้านจะไม่เป็นเพียง “เป็ดบ้านนาในตำนาน” อย่างแน่นอน