เยาวชนภาคเหนือ ‘สร้างวัฒนธรรม ขจัดแอลกอฮอล์’
ที่มา : แฟนเพจเครือข่ายป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดจังหวัดเชียงใหม่
ภาพประกอบจากแฟนเพจเครือข่ายป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดจังหวัดเชียงใหม่
เยาวชนภาคเหนือ 9 สถาบัน โชว์-ชวน-เชิญ สร้างวัฒนธรรม ขจัดแอลกอฮอล์ ชวนเยาวชนร่วมจุดพลุรับปีใหม่ 2560 ลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยง สานพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์เชียงใหม่ (เจ้าน้อยมหาอินทร์ ณ เชียงใหม่ ) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมภาคเหนือตอนบน ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน สถาบันนานาชาติไอโอจีที ประเทศสวีเดน และมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย จัดมหกรรม “พลังเยาวชนเปลี่ยนแปลงสังคม Move Fair ครั้งที่ 1” ตอน ONE YOUNG COME ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเป็นการเสนอผลงานของเยาวชนนักศึกษาที่ทำงานเพื่อสังคมและผลงานของเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วยชมรมนักศึกษาจาก 9 มหาวิทยาลัย 1 กลุ่มสมัชชาเยาวชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเข้าร่วม
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สสส. กล่าวว่า การจัดงาน “พลังเยาวชนเปลี่ยนแปลงสังคม Move Fair ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชน เปิดโอกาสและพื้นที่สร้างสรรค์ ให้ได้แสดงออกในทางที่เหมาะสม โดยกลุ่มน้อง ๆ จากเครือข่ายภาคเหนือตอนบน โดยเลือกทำงานด้านปัจจัยเสี่ยงในประเด็นการลดละเลิกเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การลดอุบัติเหตุ การออกกำลังกาย การบริโภคอาหาร ซึ่งเป็นประเด็นการทำงานเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. จึงต้องทำงานผ่านกลุ่มที่สำคัญที่สุดและเป็นประชากรกลุ่มใหญ่เกือบ 50% ของประชากรไทยใน 64 ล้านคน คือกลุ่มเยาวชน ดังนั้น บทบาทของ สสส. มีหน้าที่ในการกระตุ้น สนับสนุนให้องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีภารกิจในเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมถึงตัวเด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสทำงานในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนั้น ขอเชื่อมโยงกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย และกลุ่มเด็กเยาวชน จะเป็นพลังสำคัญของประเทศ
“ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวทำงานกับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยเด็กและเยาวชน 6-24 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญมาก จึงต้องพัฒนาให้มีศักยภาพใน 3 ทักษะ ได้แก่ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และทักษะวิชาการ พร้อมทั้งต้องลดปัจจัยเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมด้านสุขภาพให้ดีขึ้น ในวันนี้ การที่น้องๆ แกนนำเครือข่ายต่างๆ มารวมพลัง เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มจากพื้นที่ภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอาศัยอยู่ขณะนี้ จึงถือได้ว่าทุกคนได้เปิดพื้นที่สร้างสรรค์พัฒนาศักยภาพของตนเองแล้ว อีกทั้ง เป็นการตอบโจทย์การทำงานของ สสส. ที่วางระบบการทำงานผ่านสถานศึกษาทุกสังกัด รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาด้วย ดังนั้นจึงอยากให้ช่วยกันแสดงพลัง สร้างผลงาน นวัตกรรมให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อประสานและส่งต่อไปยังเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาอีกกว่า 400,000 คน ให้ได้รับการพัฒนาเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพร่วมกันต่อไป” นางเพ็ญพรรณ กล่าว
นายนิติกร แก้วปัญหา แกนนำเครือข่ายป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมพลังเยาวชนเปลี่ยนสังคมในครั้งนี้เป็นการนำเสนอบทเรียนจากการทำงานของเครือข่ายเรื่องของการลดผลกระทบการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งแต่ละชมรมนักศึกษาจะมีรูปแบบนวัตกรรมในการจัดการปัญหาที่แตกต่างกัน ทั้งในระดับชมรมและในระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานสื่อสารสาธารณะถึงผลกระทบการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชน และมีผลงานของเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยหนึ่งปีที่ผ่านมาได้มีการรวมกลุ่มของ 9 มหาวิทยาลัย 1 กลุ่มสมัชชาเยาวชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่เฉลิมพระเกียรติ และกลุ่มสมัชชาเยาวชนชาวไทยภูเขาจังหวัดน่าน เพื่อขับเคลื่อนประเด็นด้านสุขภาพหลากมิติ โดยกลุ่มเยาวชนนักศึกษาร่วมกับเครือข่ายชุมชนในประเด็นหลัก ได้แก่ รายได้ครัวเรือน ผู้สูงอายุ การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน โภชนาการอาหารที่มีผลต่อการพัฒนาทักษะสมองของเด็ก การพัฒนาเยาวชน การสร้างจิตสำนึกรักถิ่นเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เป็นต้น
นางสาวดารณี เขื่อนวงศ์วิน ประธานชมรมสร้างเสริมสุขภาพมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็มีวิถีประเพณีของการรับน้องและการเลี้ยงสายรหัส ซึ่งจากการสอบถามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ส่วนใหญ่ในปีที่ผ่านมาพบว่า นักศึกษารุ่นพี่จำนวนหนึ่งก็ยังให้ความสำคัญในการเลี้ยงสายรหัสโดยพาไปสถานบันเทิงและดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีค่านิยมว่าการดื่มแอลกอฮอล์สามารถเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องได้ดี ทั้งนี้ ทางชมรมสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้เล็งเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและต้องการสร้างค่านิยมใหม่ของการเลี้ยงสายรหัสให้กับนักศึกษาที่สามารถปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสร้างกิจกรรมทางเลือกที่นำมาทดแทนได้ภายใต้ชื่อกิจกรรม “สายรหัสสีขาว”
“วิถีการเลี้ยงสายรหัสที่ผ่านมานักศึกษาจำนวนมากมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และรุ่นพี่ส่วนใหญ่ก็พารุ่นน้องไปสังสรรค์ตามสถานบันเทิงต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นส่วนประกอบแน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากนั้นคือนักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ได้มองเห็นถึงปัญหาที่จะตามมาได้ อาทิ ปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาการเงิน ซึ่งทางชมรมสร้างเสริมสุขภาพที่ขับเคลื่อนงานมากว่า 2 ปี จึงเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและหยิบยกนำมาสื่อสารต่อนักศึกษาในกิจกรรม “สายรหัสสีขาว” ผลจากการขับเคลื่อนเกิดสายรหัสสีขาวกว่า 400 สายรหัส นอกจากนี้กลุ่มชมรมสร้างเสริมสุขภาพมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ยังได้มีโครงการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับเครือข่ายชุมชนพี่น้องชาติติพันธุ์ไทใหญ่ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยในโครงการ “ไทเมืองมอง พี่น้องสองพรมแดน” ซึ่งมองว่า การอยู่อาศัยร่วมกันจะต้องมีการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าหากเรามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อกันก็จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้ยาก ดังนั้น จึงมีการจัดโครงการและจัดทำแผนที่ทางวัฒนธรรมชุมชนย่านวัดป่าเป้าจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมไทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเชื่อว่าถ้าเราได้รับการเรียนรู้กันมากขึ้นคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันก็จะมีความเข้าใจในการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยใช้วัฒนธรรมเป็นต้นทุนในการพัฒนาในเรื่องมิติความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ทั้งกลุ่ม เด็ก เยาวชน และคนในชุมชนอีกด้วย”