เยาวชนบ้านหม้อ ฝีพายรุ่นจิ๋วแต่แจ๋ว

 

คนชุมชนบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เชื่อกันว่า ‘แม่น้ำเพชรฯ’ คือแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เพราะแม่น้ำอื่นไหลจากเหนือลงใต้ แต่แม่น้ำเพชรฯ ไหลย้อนจากใต้ไปเหนือ

ที่ผ่านมา แม่น้ำเพชรฯ อาจมีสกปรกไปบ้าง แต่สุดท้าย ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนทุกอำเภอ น้ำเพชร ฯ ก็กลับมาใสเย็นอีกรอบ และพร้อมเสมอกับการแข่งเรือยาว แถมเป็นเรือยาวรุ่นจิ๋วด้วย

ย้อนกลับไปที่หมู่ 1 บ้านไร่ วัดประจำหมู่บ้านอย่างวัดเสาธงเรียง มีเรือจอดทิ้งไว้ เป็นเรือขนาด 23 ฝีพาย ที่ชาวบ้านยืมไปพายในงานวัดกันบ่อยๆ จากนั้นทหารมายืมเรือของวัดไปพาย ถึงฤดูแข่ง ชาวบ้านไม่มีจะพาย เลยไปพายกับตำบลบ้านลาด แต่พอพายชนะ บ้านลาดกลับกวาดรางวัลไปหมด

จากจุดนั้น ชาวบ้านไร่แห่งตำบลบ้านหม้อ จึงคิดอยากมีเรือของตัวเองอย่างจริงจัง เลยเริ่มทำกัน ประกอบกับหมู่ 1 เอง ขึ้นชื่อเรื่องฝีมือช่างไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยเรี่ยรายกันคนละ 100 บาท 500 บาท แล้วแต่กำลัง ซื้อไม้กระท้อน ซื้อเครื่องมือ ช่วยกัน ขัดสีเรือลำแรก

“ทำไปคุยกันไปว่า จะทำออกมาเป็นเรือ หรือมันจะเป็นอะไร จะเป็นไม้จิ้มฟันซะล่ะมั้ง” เจ้าของประโยคดังกล่าวคือ จีรพันธ์ พิมพ์สว่าง ผู้ดูแล แหล่งเรียนรู้กลุ่มเรือยาว’ เธอย้อนประวัติต่อว่า เรือไม้กระท้อนได้ลงสนามครั้งแรกในวันสืบสานแม่น้ำเพชรฯ เดือนตุลาคม ปี 2548 แต่ด้วยความที่เป็นเรือใหม่ จมบ้างลอยบ้าง คนดูก็ขำ อะไรๆ ยังไม่ค่อยลงตัว เลยไม่ได้ถ้วย ใดๆ กลับมา

“แต่เด็กๆ เข้ามาสนใจมากขึ้น พอถึงหน้าเรือ เดือนสิงหาคม เขาจะมาช่วยพาย ดูแลขัดสี ปีถัดมาเลยสร้างเรือใหม่ 2 ลำ ของผู้ใหญ่กับเด็ก อย่างละลำ พอปี 2550 นายก อบต. เห็นว่าชุมชนสนใจ เลยจัดงบสนับสนุนมาให้ปีละ 5,000 บาท จนค่อยๆ เขยิบขึ้นเป็น 10,000 บาท ในหลายปีต่อมา เด็กๆ ก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เด็กรุ่นแรกๆ โตขึ้นก็เขยิบไปพายลำใหญ่” จีรพันธ์เล่า

บ้านของจีรพันธ์ คือแหล่งเรียนรู้ และที่เก็บเรือของกลุ่มเรือยาว ขณะเดียวกันก็หาเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจรับทำเฟอร์นิเจอร์ไปด้วย พอเข้าหน้าเรือ ก็จะได้ต้อนรับสมาชิกตัวเล็กๆ หน้าใหม่ๆ เสมอ บางคนอายุแค่ 9 ขวบ ก็มาขอจับพายแล้ว

“เขาเห็นพายมาตั้งแต่เล็กๆ เลยอยากมาขอพายบ้าง ก็ให้เริ่มจากช่วยวิดน้ำเรือก่อน พอเรือจอดปุ๊ป เขาต้องรีบลงไปวิด พอสักพักก็ให้เริ่มฝึกพายกับรุ่นใหญ่ เอาให้ได้จังหวะก่อน อย่างลูกชายพี่ตอนนี้ อายุ 20 แล้ว ก็เริ่มจากวิดน้ำ เหมือนกับคนอื่นๆ จนตอนนี้เป็นฝีพายประจำลำใหญ่ไป ชื่อเสียงของฝีพายบ้านหม้อไม่เป็นรองใคร นอกจากถ้วยรางวัลเกินนิ้วนับจนต้องเอาไปบริจาคให้โรงเรียนเอาไปใช้ต่อแล้ว ยังได้รับเทียบเชิญให้ไปแข่งจากต่างอำเภอ เฉลี่ยปีละกว่า 10 ครั้ง แต่สำคัญกว่านั้น คือ เด็กๆ ได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ แม้ว่ามันจะเหนื่อย และหนักก็ตาม

เขาชอบของเขา การจะเป็นฝีพายได้ต้องอดทนจริงๆ เพราะมันทั้งเหนื่อย ทั้งปวดเอว แต่สนุกนะ ต้องใช้ความสามัคคีกันมากๆ อย่างเรือรุ่นเล็ก 7 ฝีพาย ทุกคนต้องไปพร้อมกันหมด ถ้าคนหนึ่งหยุดพาย เรือจะแพ้ทันที” จีรพันธ์เล่าให้ฟัง

สามีของจีรพันธ์เอง ก็ช่วยลากเรือทุกครั้งที่มีแข่ง พาเด็กไปเป็นโขยง เสียค่าน้ำค่าเดินทาง จนหลายครั้งก็ถึงกับเข้าเนื้อ จนบางครั้งก็ถามตัวเองว่า จะดิ้นรนทำไปทำไม ไหนจะงานดูแล หรือที่เรียกว่า ประแป้งเรือ การทำบุญแม่ย่านาง ไปจนถึงทำกับข้าวเลี้ยงฝีพายที่เธอนับเหมือนลูก กระนั้นจีรพันธ์กลับตอบอย่างเรียบง่ายว่า “ถ้าเราไม่ไป เห็นลำอื่นไป เราก็อยากไปเนอะ ไปแข่งแต่ละครั้ง เชื่อไหม คนดูมากกว่าคนแข่งเสียอีก”

 

 

ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

Shares:
QR Code :
QR Code