เยาวชนบ้านกันตวง จากเด็กแว้นสู่นักพัฒนา
ที่มา : เนชั่นสุดสัปดาห์
ภาพประกอบจากยูทูป เรื่องเยาวชนคนดี บ้านกันตวง
เยาวชนบ้านกันตวง จากเด็กแว้นสู่นักพัฒนาชุมชน ใช้ระบบสภาผู้นำชุมชนขับเคลื่อนกระบวนการ
"จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ 15 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเล่นน้ำสงกรานต์มีวัยรุ่นในหมู่บ้านเล่นน้ำกันเป็นกลุ่มใหญ่มีเครื่องเสียงดังกระหึ่ม พร้อมเครื่องดื่มครบครัน ช่วงบ่ายแก่ๆ ก็มีรถกระบะบรรทุกถังน้ำวิ่งเข้ามา ซึ่งตอนแรก็นึกว่าเป็นรถท่องเที่ยวที่กลับจากเล่นน้ำสงกรานต์ทั่วไปแต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเหมือนที่คิด เพราะรถน้ำที่ว่ามาพร้อมกับวัยรุ่นผู้ชายที่แต่งตัวด้วยชุดสีดำและมีอาวุธครบมือ ทั้งมีด ไม้และขวด พอรถวิ่งเข้ามายังไม่จอดสนิดทุกคนบนรถก็กระโดดลงและวิ่งไล่ตีวัยรุ่นในหมู่บ้านที่กำลังเล่นสาดน้ำ เกิดการตะลุมบอนหมู่เต็มถนนและวิ่งไล่กันทั่วหมู่บ้าน ผมรู้สึกกลัวมาก เพราะลูกหลานเราก็อยู่ในนั้น"
คำบอกเล่าผ่านวงสนทนาของ สุวิน สุดทวี หนึ่งในผู้ปกครองของเยาวชนบ้านกันตวง ต.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อปี 2553 เป็นเหตุการณ์การทะเลาะวิวาทกันของวัยรุ่น นับเป็นเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทที่เลวร้ายที่สุดในหมู่บ้านเท่าที่เคยมีมา และผลจากการทะเลาะกันคราวนั้น ทำให้มีวัยรุ่นเสียชีวิตคาที่ 1 ราย และเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลอีก 1 ราย ซึ่ง สุวิน รู้สึกว่าเล่าเมื่อไหร่ก็กลัวและขนลุกเมื่อนั้น
ปัญหาของที่นี่ เกิดจากหนองน้ำชื่อหนองกันตวง ซึ่งอยู่ด้านข้างหมู่บ้าน ที่ค่อนข้างลับตาและห่างไกลผู้คน รวมทั้งร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ ที่เจ้าของร้านเป็นวัยรุ่นชื่อโจ้ ก็เอื้อต่อการรวมกลุ่มของวัยรุ่น บางครั้งมีการรวมกลุ่มถึง 30 คน เพื่อพูดคุยดื่มเหล้า เฮฮาและส่งเสียงแซวสาวๆ ที่ขับรถผ่าน ประกอบกับการมีร้านค้าที่จำหน่ายเหล้าเป็นจำนวนมากถึง 11 ร้าน และมี 2 ร้านที่ขายตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญ ทุกร้านสามารถซื้อเงินเชื่อได้เพราะเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน รวมถึงค่านิยมของผู้ใหญ่ในชุมชนเอง เวลามีการจัดงานบุญประเพณี เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ ชาวบ้านมักมีค่านิยมใช้เหล้าต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน ทำให้มีค่าเหล้าไม่น้อยกว่างานละ 8,000-20,000 บาท ตามแต่ฐานะหรือความมีหน้ามีตาในสังคมของแต่ละคน
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้มีผลมาจากชุมชนยังไม่มีการกำหนดมาตรการหรือกติกาชุมชนเกี่ยวกับเรื่องเหล้า และร้านค้าเองก็ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาในการจำหน่าย อายุของผู้ซื้อเหล้า อีกทั้งหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง ก็ไม่ได้ลงมามีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างชัดเจน ทำให้ขาดการกำกับติดตามอย่างจริงจัง จึงทำให้วัยรุ่นดื่มเหล้าและมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่หลังจาก ปราโมทย์ เพิ่มทรัพย์ ขณะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเป็นเขยใหม่ของที่นี่ เข้ามารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในปี 2555 ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา "รู้จักหมอหมูจากโรงพยาบาลกาบเชิง แกมาเล่าให้ฟังว่าสนใจอยากทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาเยาวชนไหม ผมบอกสนใจ แต่ก็ยังไม่เข้าใจหรอกว่าโครงการที่ว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร แต่ก็คิดอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหา ดีกว่าจะไม่ทำอะไรเลย" ผู้ใหญ่บ้านเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการทำโครงการ โดยที่มี สุกัญญา คำหล่า พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จากโรงพยาบาลกาบเชิง ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษาชุมชนเข้ามาชักชวน
โครงการเยาวชนคนดีบ้านกันตวง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือโครงการที่เป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน ที่ไม่เฉพาะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเยาวชนเท่านั้น หากแต่หมายถึงความพยายามในการสร้างความร่วมมือระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีสภาผู้นำชุมชนเป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมต่อให้ทุกคนมาทำงานร่วมกัน ซึ่งจากการขับเคลื่อนโครงการผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการล้อมวงคุยกันของคณะกรรมการ สภาผู้นำชุมชน ที่ได้เอาข้อมูลปัญหาเยาวชนมาวิเคราะห์ จนค้นพบต้นตอของปัญหา
วิธีการที่สำคัญคือ การตั้ง สภาเยาวชน อีกหนึ่งสภา เพื่อเป็นสภาคู่ขนานของเยาวชนในการกิจกรรมร่วมกับสภาผู้นำชุมชน "แรกๆ วัยรุ่นเขาจะไม่เข้ามาทำกิจกรรมกับเรา หรือมาเขาก็มานั่งเฉยๆ ไม่แสดงความคิดเห็นอะไร ซึ่งเราก็เข้าใจเพราะเขาไม่กล้าพูด แม้แต่เราเองเวลาลูกมานั่งด้วยก็ยังอายเลยเพราะเป็นแม่-ลูกกันมานั่งในวงเดียวกัน พอจะแสดงความเห็นก็รู้สึกอายๆ แต่พอแยกสภาให้เขาคิดและทำกิจกรรมเองต่างหาก เขาจะทำได้ดีมาก เพราะเขามีอิสระในการแสดงความเห็น และมันมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น" สุวิน สุดทวี ผู้ปกครองและแกนนำสำคัญในสภาผู้นำชุมชนเล่าให้ฟังถึงกระบวนการทำงานที่ต้องเห็นความสำคัญซึ่งกันและกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่
จากการขับเคลื่อนงานด้วยสภาผู้นำชุมชนและสภาเยาวชน โดยนำประเด็นเรื่องการดื่มเหล้าเป็นประเด็นหลักในการวิเคราะห์เพื่อหาทางออก ทำให้เด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้านกันตวงเกิดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันหลายอย่าง เช่น การเปิดเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อวิเคราะห์ปัญหา การจัดค่ายเยาวชน การจัดค่ายครอบครัว ที่สำคัญคือ การสนับสนุนให้เยาวชนมีบทบาทในการพัฒนาตนเอง ซึ่งในที่สุดก็เกิดกติการ่วมระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งมี 3 ข้อร่วมกัน นั่นคือ ข้อ 1 ร้านค้าไม่ขายเหล้าให้เด็กอายุไม่ถึง 20 ปี ข้อ 2 ห้ามขับรถเสียงดังหลัง 22.00 น. และข้อ 3 เยาวชนต้องสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ ในสภาเยาวชนเองที่แม้ส่วนมากจะเป็นเด็กผู้ชายที่มาจากการชักชวนของช่างโจ้ แต่พอทุกคนได้มีโอกาสคิดและตัดสินใจร่วมกัน ก็ทำให้พวกเขาเกิดกิจกรรมร่วมกันหลายอย่างในแบบที่ทุกคนต้องการ เช่น กิจกรรมการเล่นดนตรี กิจกรรมเพ้นท์แก้ว กิจกรรมปลูกผัก รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ของหมู่บ้าน ที่มีเยาวชนเป็นผู้ดำเนินการเอง เช่น การจัดงานลอยกระทง จัดงานวันเด็ก จัดแข่งขันกีฬาของหมู่บ้าน โดยทุกกิจกรรมจะเน้นให้เกิดค่านิยมการจัดงานปลอดเหล้า
พอทุกคนในหมู่บ้านได้เข้ามาทำงานร่วมกัน นอกจากจะทำให้เด็กและผู้ใหญ่เข้าใจความคิดของกันและกันแล้ว ในกลุ่มผู้ใหญ่ด้วยกันเองก็สามารถสร้างความเข้าใจได้ไม่น้อย จากเดิมที่เคยมีความขัดแย้ง แต่หลังจากได้ทำงานร่วมกัน ก็ทำให้เกิดความร่วมมือที่ก้าวพ้นผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะทุกคนต่างเอาประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง ที่สำคัญ กลุ่มเยาวชนซึ่งเคยเป็นปัญหาหลัก ทุกวันนี้ผู้ใหญ่ในชุมชนก็เริ่มวางใจ ซึ่งจากข้อมูลที่ทุกคนช่วยกันสำรวจและรวบรวม จะเห็นว่า เยาวชนในหมู่บ้านที่เดิมทีเคยดื่มเหล้า 80 คน พอได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้พวกเขาเลิกดื่มเหล้าได้ 46 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 57.5 นอกจากนี้ยังลดปริมาณการดื่มได้ 31 คน หรือร้อยละ 38.75 ซึ่งถ้ามองเป็นตัวเงินที่เคยจ่ายไปก็จะพบว่า ก่อนหน้าที่จะดำเนินโครงการ มีค่าใช้จ่ายเรื่องเหล้าในเยาวชนจำนวน 1,752,000 บาท แต่หลังจากนั้นลดเหลือเพียง 537,525 บาท ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1,214,475 บาท
ทุกวันนี้แม้ปัญหาเยาวชนในบ้านกันตวงจะยังไม่ถูกแก้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อก่อนนั้น แทบวัดกันไม่ได้เลย ผู้ปกครองจากเดิมที่เคยหวาดผวาเพราะกลัวเยาวชนบ้านอื่นจะมาทำร้าย หรือไม่ก็กังวลว่าลูกหลานบ้านตัวเองจะไปหาเรื่องเขาก่อน แต่ทุกวันนี้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านกันตวงนั้นอุ่นใจขึ้นมาก ด้วยเพราะทุกคนมีกติกาที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน ที่สำคัญเป็นกติกาที่ทุกคนช่วยสร้าง โดยยึดเอาเสียงส่วนมากเป็นที่ตั้ง แม้ช่วงแรกๆ กติกาที่ตั้งขึ้นอาจขัดใจวัยรุ่นบ้าง แต่เมื่อทุกอย่างกลายเป็นค่านิยมของคนหมู่มาก
ในที่สุดทุกคนก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่ถ้าใครไม่ทำตามกติกาก็จะดูเป็นคนแปลกแยก และการมอบโอกาสให้เยาวชนคิดเอง สร้างสรรค์ในสิ่งที่พวกเขาชอบ นับเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ควรคำนึงมากที่สุด ซึ่งเด็กๆ บ้านกันตวงทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่า แม้ในอดีตจะเคยเป็นขาแว้น แต่ถ้ามีโอกาสพวกเขาก็สามารถเปลี่ยนสภาเด็กแว้นขาโจ๋ ให้กลายเป็นสภาเด็กที่ทำเรื่องแจ๋วๆ ได้เช่นกัน