เยาวชนชุมชน กทม.ชวนพ่อแม่เลิกเหล้า
ถือฤกษ์ดีเข้าพรรษา พาครอบครัวเข้มแข็ง
“ฝันว่าเข้าพรรษา พี่ป้าน้าอาจะมาเลิกเหล้า เลิกเถอะนะเลิกดื่มน้ำเมา ให้ครอบครัวเรา…เป็นสุขทั้งปี ให้ครอบครัวเรา…เป็นสุขทั้งปี เย้ๆๆๆ”
นี่คือเนื้อร้องท่อนสุดท้ายของเพลง “ฝันของลูก” ที่เด็กๆ “เครือข่ายเยาวชนชุมชน กทม. ชวนพ่อแม่เลิกเหล้าเข้าพรรษา” ได้ร่วมกันขับร้องเพื่อส่งความห่วงใย และเชิญชวนให้ผู้ใหญ่ในชุมชนของพวกเราได้มาร่วมลด ละ เลิกดื่มน้ำเมา โดยถือฤกษ์ดีในการเริ่มต้นคือช่วงเข้าพรรษานี้
เครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้า (ดีดี๊ดี) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันจัดโครงการ “เครือข่ายเยาวชนชุมชน กทม. ชวนพ่อแม่เลิกเหล้า” ขึ้น โดยมีเยาวชนจาก 5 ชุมชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเข้าร่วมโครงการ คือ ชุมชนพุ่มพวง ชุมชนกองขยะหนองแขม ชุมชนมัสยิดมหานาค ชุมชนวัดสังข์กระจาย และชุมชนวัดโพธิ์เรียง
ทั้ง 5 ชุมชนนี้ต่างก็เป็น “ชุมชนนำร่องเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์” ซึ่งก็ทำหน้าที่รณรงค์ให้คนในชุมชนลด ละ เลิกน้ำเมา และให้ข่าวสารเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยมุ่งหวังให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี มีครอบครัวอบอุ่นและนำไปสู่ความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง
แม้จะมีการรณรงค์เรื่อยมาแต่ปัญหาจากดื่มน้ำเมาก็ยังคงมีอยู่มากมาย ด้วยสภาพแวดล้อมของชุมชนที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนมีความเป็นเมืองสูง มีประชากรแฝงเป็นจำนวนมาก หรือมีปัญหาเรื่องปากท้อง ซึ่งทุกปัญหาเหล่านี้มักจะมีน้ำเมามาเป็นส่วนเกี่ยวข้องเสมอ ทำให้ปัญหาในการดำรงชีวิตที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ยิ่งเพิ่มหนักขึ้นเพราะพิษน้ำเมาที่ให้โทษทั้งต่อสุขภาพ ครอบครัวและเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงเป็นแบบอย่างและเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีสำหรับเด็กๆ ในชุมชนด้วย
โครงการเครือข่ายเยาวชนชุมชน กทม. ชวนพ่อแม่เลิกเหล้า เป็นการจัดกระบวนการอบรมทักษะละครรณรงค์งดเหล้าให้แก่เด็กๆ ได้มีเครื่องมือในการไปรณรงค์เชิญชวนพ่อแม่ พี่ ป้า น้า อา และคนในชุมชนให้เลิกดื่มน้ำเมา โดยถือเอาฤกษ์ดีในการรณรงค์คือ ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา
ละครรณรงค์ของเด็กๆ นั้นได้เริ่มต้นขึ้นที่การฝึกซ้อมในเกือบทุกๆ เย็นหลังเลิกเรียน โดยเริ่มจากการช่วยกันคิดว่าบทละครจะมีเรื่องราวอย่างไร มีใครเป็นตัวละครบ้าง นอกจากนี้ยังไม่ลืมที่จะดึงเอาปัญหาน้ำเมา หรือบริบทของชุมชนมาพูดถึงในละครด้วย เพื่อให้คนดูเกิดความรู้สึกว่าละครเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของชุมชนเราจริงๆ กระทั่งถึงวันแสดงจริงเด็กๆ ก็เต็มที่กับการทำงานมาก กระบวนการที่เด็กใช้ในการรณรงค์นั้นเริ่มต้นจากการเดินรณรงค์ในชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์บอกกล่าวถึงการแสดงละครของพวกเขา และแจกเอกสาร แผ่นพับให้ความรู้ รวมถึงสติ๊กเกอร์รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาแก่คนในชุมชน
จากนั้นก็มาแสดงละครรณรงค์ต่อ โดยเวทีที่พวกเขาใช้ในการแสดงนั้นก็มีความหลากหลาย ให้บรรยากาศและความรู้สึกที่เป็นชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นถนนหน้าชุมชน ลานหน้าบ้านประธานชุมชน หรือศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน แม้เวทีจะเป็นเพียงถนนหรือลานพื้นดินธรรมดา แต่ความตั้งใจของเด็กๆ นั้นก็เต็มร้อยเสมอ
น้องเพชร ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนชุมชนกองขยะหนองแขม พูดด้วยความภูมิใจว่า หนูรู้สึกดีใจมากที่ได้แสดงละครให้คนในชุมชนดู และมีพ่อมาดูด้วย ก็ยิ่งรู้สึกดีมากๆ ก็ที่เห็นคนมาดูกันเยอะ ไม่คิดว่าจะมาเยอะขนาดนี้ถ้าเป็นไปได้หนูอยากเล่นละครอีก อยากเล่นให้ชุมชนอื่นได้ดูบ้าง
ในขณะที่ น้องหนุ่ม ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนชุมชนมัสยิดมหานาค พูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นและดีใจว่า รู้สึกดีที่มีคนมาดูเยอะ แล้วก็ยังมีคนมาลงชื่องดเหล้าเข้าพรรษาด้วย ตอนที่แสดงตื่นเต้นมากเพราะบทพูดเป็นเรื่องราวที่มีจริงในชุมชน แต่ก็ทำออกมาได้ดีตามที่ตั้งใจไว้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำกิจกรรมแบบนี้อีกครับ
นอกจากเด็กๆ แล้ว ความร่วมมือที่อยู่คู่กับเด็กๆ ตลอดมาก็คือ ผู้ใหญ่ใจดีในชุมชนที่ให้การสนับสนุน ช่วยดูแลและจัดเตรียมงานไปพร้อมกับเด็กๆ ป้าสุรีย์ ไชยสุกุมาร แห่งชุมชนมัสยิดมหานาคกล่าวด้วยความภูมิใจว่า รู้สึกภูมิใจในตัวเด็กๆ มาก ทุกคนที่มาทำงานตรงนี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างมีปัญหา แต่พวกเขาเป็นเด็กน่ารัก มีความตั้งใจดี ป้าเองก็อยากให้เขาได้พัฒนาตัวเองให้เข้มแข็ง จะได้มีภูมิคุ้มกันตนเอง ตอนนี้พวกเขาก็ถือว่าเป็นแกนนำเยาวชนของชุมชนที่จะมาช่วยผู้ใหญ่ในชุมชนทำงานตรงนี้
เสียงแห่งความห่วงใยของเด็กๆ เหล่านี้ ขอส่งผ่านไปยังพ่อแม่ พี่ ป้า น้า อา ทุกท่านในสังคม เพื่อให้ลด ละ เลิกน้ำเมาและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กๆ อย่าปล่อยให้เด็กต้องตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ใหญ่ต้องดื่มน้ำเมา ทำไมผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่เด็ก และทำไมผู้ใหญ่ไม่แก้ไขให้ดีขึ้นสักที เบื้องหลังของการตั้งคำถามนี้ไม่ใช่ความก้าวร้าวหากแต่เป็นความห่วงใย และความรักอันบริสุทธิ์ของเด็กๆ เหล่านี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update 24-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์