เยาวชนจัดฮาโลวีนปลอดเหล้า-เบียร์

เยาวชนจัดฮาโลวีนปลอดเหล้า-เบียร์  thaihealth


เยาวชนจัดกิจกรรม"ฮาโลวีนปาร์ตี้ ผีไม่พนัน มันส์ไม่เมา" ชูแนวคิด "หยุดผีพนัน ก่อนที่มันจะสิงคุณ" พบเยาวชนในสถานพินิจ 92%เคยก้าวเข้าสู่วงจรพนัน โดยมีเครือข่ายเยาวชนฯ และ สสส.ร่วมสนับสนุน ระบุมีเป้าหมายลดการพนันในสังคมไทย สร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนห่างไกลจากการพนัน


วันที่ 31 ต.ค. 2558 พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันฮาโลวีน ภายใต้แนวคิด "หยุดผีพนัน&hellipก่อนมันจะสิงคุณ" เพื่อสะท้อนปัญหาพิษภัยของการพนันต่อเด็กและเยาวชน บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งจัดโดยเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน สนับสนุนโดยเครือข่ายรณรงค์หยุดพนันและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีการแสดงละคร "หยุดเถอะพนัน" จากเยาวชนที่ได้ร่วมแต่งกายชุดแฟนซีฮาโลวีนที่เดินขบวนรณรงค์เชิญชวนคนทั่วไปเข้าร่วมงาน "ฮาโลวีนปาร์ตี้ ผีไม่พนัน มันส์ไม่เมา"


โดย พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายสร้างองค์ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากการพนัน ตลอดจนการพัฒนานโยบายต่าง ๆ เพื่อลดการพนันในสังคมไทย โดยรัฐบาลได้กำหนดให้มีกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพนันปกป้องเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีและกรุงเทพมหานครพร้อมสนับสนุนในการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ได้แสดงออก


"จากข้อมูลศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบว่าเด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันตั้งแต่อายุยังน้อย และมีประสบการณ์เล่นการพนันกว่า 9.6 ล้านคน ขณะที่ปัจจุบันเกิดการเล่นการพนันมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงโดยง่ายผ่านโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม หวังว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะทำให้เด็กและเยาวชนรู้พิษภัยจากการเล่นการพนัน และให้เยาวชนที่หลงผิดลดละเลิกการพนัน" พล.ต.ต.วิชัย กล่าว


ด้านนายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า ขอใช้โอกาสในวันฮาโลวีน ซึ่งเป็นเยาวชนจัดฮาโลวีนปลอดเหล้า-เบียร์  thaihealthวันปล่อยผี สื่อสารไปยังกลุ่มผีพนันให้ตระหนักถึงภัยร้ายจากการเล่นการพนัน รวมถึงกระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและแก้ไข สร้างภูมิคุ้มกัน โดยจากข้อมูลที่เครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 7 แห่ง ได้แก่ บ้านปรานี บ้านสิรินธร บ้านกาญจนาภิเษก บ้านอุเบกขา บ้านมุทิตา บ้านกรุณา และบ้านเมตตา ระหว่างวันที่ 15-25 ตุลาคม 2558 จำนวน 1,222 ชุด พบว่าเด็กเยาวชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 92 เคยเล่นการพนัน และกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่าปัญหาจากการทำงานมีผลกระทบต่อชีวิตสูง เริ่มตั้งแต่เสียทรัพย์สิน เป็นหนี้ เครียด เสียการเรียน ก่อเหตุ ถูกจับดำเนินคดีและทะเลาะวิวาทตามลำดับ


"จากผลสำรวจสะท้อนว่าปัญหาการพนันยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เกือบครึ่งหรือ49%มองว่าเจ้าหน้าที่ไม่เอาจริงเอาจัง 23% เชื่อว่ามีผลประโยชน์กัน12%มองภาครัฐมีนโยบายไม่ชัดเจน และอีก12% คิดว่ากฎหมายล้าหลัง เช่นไม่ครอบคลุมการพนันออนไลน์ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างมีข้อเสนอได้แก่ รัฐควรมีมาตรการครอบคลุมชัดเจน เพิ่มโทษให้หนักขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวด หรือถูกลงโทษหากละเลยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนัน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมครั้งนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มเยาวชน และเป็นการเปิดพื้นที่ทางเลือกให้เยาวชน ในขณะที่กระแสฮาโลวีนกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เราจึงทดลองจัดปาร์ตี้ในวันฮาโลวีน ให้สนุกสนานได้อย่างปลอดภัย ปลอดเหล้า เบียร์ และที่สำคัญคือการสอดแทรกให้เยาวชนห่างไกลการพนัน"


นายเอ (นามสมมติ) อายุ24ปี เยาวชนที่เคยก้าวพลาดเพราะติดการพนัน กล่าวว่า เริ่มคลุกคลีกับสิ่งแวดล้อมสิ่งยั่วยุที่เป็นการพนันตั้งแต่อายุ13ปี เล่นพนันบอลครั้งแรกเพราะรุ่นพี่แนะนำ อีกทั้งอยากลอง เสียเงินหลักร้อยพัฒนาไปเป็นหลักพันหลักหมื่น เคยแม้กระทั่งข้ามไปเล่นประเทศเพื่อนบ้านสุดท้ายถูกโกงจนหมดตัว รวมๆแล้วต้องหมดเงินเพราะพนันกว่า3แสนบาท  ทรัพย์สินมีค่าที่บ้านขโมยมาขายนำเงินไปใช้หนี้พนัน สร้างความเดือนร้อนให้ครอบครัว เมื่อไม่มีหนทางจึงหาเงินด้วยวิธีที่ผิด ร่วมกับเพื่อนจี้ชิงรถจักรยานยนต์ สุดท้ายถูกจับดำเนินคดี ต้องโทษอยู่4ปี เมื่อย้ายไปอยู่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก ทำให้เรียนรู้หลายๆอย่างจากที่นี่ ได้สรุปบทเรียนชีวิต จัดระบบความคิด ทำอะไรต้องมีสติ ทุกอย่างไม่ได้มาฟรีๆมันมีต้นทุนของมัน หลุดจากด้านมืดจนมีวันนี้ได้ก็เพราะบ้านกาญนาภิเษกได้ทำให้เข้าใจ อยากฝากให้เยาวชนดูไว้เป็นบทเรียนว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับการพนันทุกชนิด กลับตัวตอนนี้ยังไม่สาย แต่ถ้าสนิมติดแน่นแล้วมันแกะไม่ออก


ด้าน ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการสำรวจครั้งนี้กับการสำรวจในกลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีทั่วประเทศในปี 2556 จะพบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานพินิจนั้นมีการเล่นไฮโล22%และเล่นพนันฟุตบอล18% ขณะที่กลุ่มนักศึกษาเล่นไฮโล3%และเล่นพนันฟุตบอล11%จะเห็นว่าการเล่นพนันในรูปแบบจริงจังมีส่วนสัมพันธ์กับการมีปัญหาพฤติกรรมอาชญากรรมอื่นๆ ดังนั้น การป้องกันแก้ไข2ระดับ คือระดับบุคคล และระดับภาพรวม ในระดับบุคคลทำได้โดยห่างเข้าไว้ อย่าคิดว่าข้าแน่ เล่นแล้วจะคุมตัวเองได้ อย่าคิดว่าอีกนิดนึง เดี๋ยวได้คืนแล้วจะเลิก หาความสนุกแบบสร้างสรรค์ ส่วนระดับภาพรวมนั้น สังคมควร ไม่เพิ่มพื้นที่การพนัน และทำให้พื้นที่พนันมีน้อยที่สุด ทำให้เกิดบรรยากาศทางสังคมว่าพนันเป็นสิ่งอันตรายเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย เปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับครอบครัว ให้เกิดความอบอุ่น รับฟัง ชี้แนะเปิดโอกาสสัมผัสพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นตัวอย่างและช่วยเหลือ


 


 


ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ