เมื่อ “เรื่องเพศ” เป็นเรื่องของ “เรา”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมของคนในสังคมมีส่วนเอื้อให้สถานการณ์เรื่องเพศในหลายพื้นที่ทั้งในเมืองและในชุมชนชนบททวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาท้องไม่พร้อมที่มีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวซึ่งปีหนึ่ง ๆ มีเกือบพันราย หรือข่าวฆ่าข่มขืน รุมโทรมที่ปรากฏให้เห็นตามสื่อแทบทุกวันนั้น พฤติกรรมของคนในสังคมล้วนมีส่วนเอื้อผลักให้เกิดเหตุเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ก็ด้วยเพียงทรรศนะที่มองว่า เรื่องเพศ เป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องราวที่เกิดขึ้นในครอบครัวหนึ่งๆ นั้น เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของส่วนรวมหรือชุมชน การดูแลเอาใจใส่เกื้อกูลกันเช่นสถานการณ์สังคมในด้านอื่น ๆ จึงไม่เกิดขึ้น
หาก “เรื่องเพศ” ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และ “ครอบครัว” เป็นเรื่องของพวกเรา(ชุนชน)ล่ะ!
แน่นอนว่า สถานการณ์เรื่องเพศในบ้านเราน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากคนในชุมชน-สังคมที่เป็นกำลังหลักหันมาช่วยกันโอบอุ้ม ป้องกันและบรรเทาปัญหา ไม่ปล่อยให้เป็นธุระของใครคนใดคนหนึ่งหรือปล่อยให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจัดการ
และนี่มิใช่เป็นเพียงความคิด ชุมชนปฏิบัติการณ์ดี ๆ นี้เกิดขึ้นจริงที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ในพื้นที่ตำบลพระธาตุ ตำบลกู่สันตรัตน์ และตำบลดงยาง
ประชาคมสุขภาวะทางเพศในแต่ละหมู่บ้านกำลังช่วยกันแก้ไขสถานการณ์เรื่องเพศของชุมชนอย่างเข้มแข็ง โดยร่วมมือผ่านโครงการสุขภาวะทางเพศที่ดีเริ่มที่ความเข้าใจ ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“อยากให้ชุมชนตัวเองน่าอยู่ อยากแก้ไขปัญหาทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเพศ … แต่ก่อนเข้าใจว่าปัญหาเรื่องเพศอยู่ที่เยาวชน ก็เลยชวนอาจารย์มาร่วมด้วย ซึ่งแรกๆ ก็ไม่เข้าใจกัน คิดแต่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่พอเข้าร่วมอบรม ความคิดก็เปลี่ยนไป ตัวเราเองก็ได้รู้ว่าหากจะแก้ไขปัญหาจะต้องทำงานกับพ่อแม่ กับชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย…” นางสุวรรณี ปัดตาลาคะ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงยาง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
โครงการ “สุขภาวะทางเพศที่ดีเริ่มที่ความเข้าใจ” (โครงการฯ) เริ่มขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2552 โดยเครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม ภายใต้การดูแลของคุณเสาศิลป์ เพ็งสุวรรณ ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ คือองค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน สาธารณสุข และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยโครงการฯ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลทัศนคติทางเพศของเยาวชนที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย แล้วนำเสนอต่อประชาคมหมู่บ้านในตำบลดังกล่าว ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอนี้ได้ก่อให้เกิดกระแสเรื่องเพศในชุมชนและทำให้ชุมชนตื่นตัวต่อสถานการณ์เรื่องเพศที่เกิดขึ้น มองเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้คือปัญหา ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ
และด้วยการทำงานของคณะทำงานที่ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ปฏิบัติการรณรงค์กันอย่างเข้มข้นก็ก่อให้เกิดประชาคมสุขภาวะทางเพศในแต่ละหมู่บ้านขึ้น เพื่อช่วยกันดูแลชุมชนของตัวเอง
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกู่สันตรัตน์ นางวราภรณ์ กรโสภา หนึ่งในคณะทำงานที่ร่วมกับโครงการฯ ผลักดันให้เกิดประชาคมสุขภาวะทางเพศในชุมชนกล่าวถึงสถานการณ์เรื่องเพศและแนวทางการทำงานว่า สถานการณ์เรื่องเพศในชุมชนยังน่าเป็นห่วง เช่นเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมามีอายุต่ำกว่า 20 ปีถึงร้อยละ 80, อายุต่ำสุดคือ 13 ปี และอายุ 15 ปีก็ท้องซ้ำ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการข่มขืนในโรงเรียนและในหมู่บ้าน “โดยส่วนตัวคิดว่าสถานการณ์อย่างนี้เราต้องช่วยกัน เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองทำได้ก่อน แล้วค่อยไปสู่ระดับที่ใหญ่ขึ้น ทั้งชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ แล้วมันจะเกิดการช่วยกันแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม หรือเรื่องเพศอื่นๆ อย่างเป็นระบบได้”
ปัจจุบันโครงการสุขภาวะทางเพศที่ดีเริ่มที่ความเข้าใจ ได้ดำเนินงานเข้าสู่ระยะที่สอง และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างสุขภาวะทางเพศให้เกิดขึ้นในชุมชน ในการดำเนินงานระยะที่สองนี้ โครงการฯ จึงได้เน้นการบูรณาการงานเข้ากับหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขยายผลไปสู่กลุ่มเป้าหมายเยาวชน ผู้ปกครอง และคนในชุมชนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้คณะทำงานได้จัดประชุมเพื่อร่วมมองและกำหนดทิศทางในการทำงาน รวมทั้งวางแผนงานของโครงการในระยะที่ 2 ร่วมกัน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาที่เรือนพักฮักแพง สำนักงานเครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม
แม้การดำเนินงานที่ผ่านมาจะยังไม่สามารถแก้ไข หรือลดความร้อนแรงของสถานการณ์เรื่องเพศในพื้นที่เหล่านี้ลงได้ แต่การทำให้ชุมชนตื่นตัวและเห็นว่าการจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้นั้น ทุกคนในชุมชนต้องร่วมมือกัน ช่วยกันแก้ไข และจัดการสถานการณ์เรื่องเพศในชุมชนร่วมกันก็สามารถบ่งชี้อนาคตอันสดใสของชุมชนได้
เพื่อบ้านและชุมชนของเรา ให้ “เรื่องเพศ” เป็นเรื่องของ “ทุกคน”
ที่มา : แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ