เมื่อ ‘น้ำ’ เปลี่ยนเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ผู้ให้สัมภาษณ์ : คุณมานิตย์ แทนเพชร เกษตรกร จ.สุพรรณบุรี
ภาพประกอบโดย : ณัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และ สสส.
จากที่มีการรายงานว่าปี 2562 นี้ภัยแล้งจะมาเร็วและยาวนานกว่าทุกปี แหล่งน้ำในบางพื้นที่อาจต้องเจอกับภาวะระดับน้ำต่ำกว่าครึ่ง ทำให้อดนึกถึงหนึ่งอาชีพสำคัญที่ต้องใช้น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพอย่างเกษตรกรไม่ได้
‘เกษตรกร’ เป็นอาชีพที่แทรกตัวอยู่ในแทบทุกตารางกิโลเมตรในพื้นที่ประเทศไทย บ้างก็เป็นเกษตรกรรายใหญ่ บ้างก็เป็นเกษตรกรรายย่อย บ้างก็เป็นเกษตรกรฟรีแลนซ์ที่แม้จะมีพื้นที่ไม่มาก แต่ก็จัดสรรปันเนื้อที่มาปลูกพืชผักผลไม้ได้
เมื่อ ‘น้ำ’ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำเกษตรมีมากหรือมีน้อยไปก็ส่งผลโดยตรงต่อพืชสวนไร่นา "พ่อมานิตย์ แทนเพชร" เกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกข้าวมาทั้งชีวิต จึงตัดสินใจครั้งสำคัญเลือกลองเสี่ยงเปลี่ยนระบบการเพาะปลูกเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์
น้ำ..เกษตรกร..และการเพาะปลูก
"น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ส่วนดินเป็นสิ่งสำคัญที่รองลงมา"
พ่อมานิตย์บอกว่า สำหรับอาชีพเกษตรกร ‘น้ำ’ เป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ส่วน ‘ดิน’ สำคัญเป็นลำดับถัดมา เพราะถ้ามีน้ำมากไปพืชพันธุ์ก็เสียหาย แต่หากน้อยไปพืชพันธุ์ก็เหี่ยวเฉา เมื่อไม่มีน้ำก็เท่ากับการเกษตรหยุดนิ่ง แต่ถ้าหากดินไม่ดีปลูกอะไรผลผลิตที่ได้ก็จะก็ไม่งาม ซึ่งในไร่ของพ่อมานิตย์เป็นพื้นที่ลุ่ม พอหน้าฝนก็จะเสี่ยงโดนน้ำท่วม พอถึงฤดูร้อนก็เสี่ยงกับภาวะแล้ง ทำให้ที่ผ่านมาเมื่อเกิดสถานการณ์การเกษตรหยุดชะงักก็สูญเงินไปไร่ละ 3,500 – 4,000 บาท x เนื้อที่ทั้งหมด 17 ไร่ ก็เท่ากับจำนวนเงินก้อนใหญ่ไม่น้อย ซึ่งหากเป็นคนที่ทำการเกษตรด้วยระบบเดิมจะต้องเสียค่ายา ค่าปุ๋ย ค่าฮอร์โมนต่างๆ
มันคือความโชคดี…ในความโชคร้าย
“ที่ผ่านมาเราทำนาเคมี พอน้ำท่วมต้นข้าวก็เสียหาย พอถึงหน้าแล้งก็แทบปลูกอะไรไม่ได้”
ก่อนหน้านี้ พ่อมานิตย์ ทำนาปลูกข้าวอย่างเดียวในพื้นที่ 17 ไร่ จนเมื่อปี 2558 ทางการห้ามปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากเกิดปัญหาน้ำแล้ง ไม่มีน้ำเพียงพอให้เกษตรกรทำนาจึงต้องดิ้นรนคิดหาหนทางใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มี จนได้มาพบกับพ่อปัญญา ใคร่ครวญ ผู้นำกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน และเจ้าหน้าที่จากเลมอนฟาร์ม (Lemon Farm) จึงเกิดแรงบันดาลใจลองเสี่ยงมาทำเกษตรด้วยระบบอินทรีย์ หลังจากนั้นเนื้อที่เพียง 20 ตารางเมตร จากทั้งหมด 17 ไร่ จึงถูกจัดสรรให้เป็นแปลงปลูกผักสลัดระยะทดลอง
เมื่อเห็นว่าการทดลองไปได้ดี ‘ผักสลัด’ จึงกลายเป็นผลผลิตหลักของพ่อมานิตย์ที่จัดส่งออเดอร์ผ่านร้านค้า Lemon Farm ไปถึงมือผู้บริโภคในเมืองใหญ่อาทิตย์ละ 40 กิโลกรัม ได้ผลตอบแทนกิโลกรัมละ 96 บาท จากเมื่อก่อนที่ปลูกข้าวเต็มพื้นที่ 17 ไร่ ก็ลดข้าวเหลือแค่ 2 ไร แต่เพิ่มแปลงผักแปลงผลไม้ 9 ไร่ ทำให้เกิดผลผลิตที่หลากหลาย ทั้งข้าวอินทรีย์ ผักคะน้า ผักกาดขาวปลี มะม่วง กล้วย บ่อเลี้ยงปลาอินทรีย์ เลี้ยงไก่ไข่ มีโรงปุ๋ย และโรงเลี้ยงแพะอีกด้วย
“เทียบกับตอนทำนาอย่างเดียวมีรายได้เฉลี่ยวันละ 20 บาท/ไร่ จากการปลูกข้าวปีละครั้ง เมื่อมาทำเกษตรอินทรีย์ ส่งออเดอร์ที่หลากหลายให้ Lemon Farm กลับมีรายได้เฉลี่ยวันละ 166 บาท/ไร่ เกษตรอินทรีย์เปลี่ยนจากคนที่อาบสารเคมีจนร่างกายย่ำแย่ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น”
น้ำ..กับการทำเกษตรอินทรีย์
“เมื่อได้มาทำการเกษตรด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ทำให้สามารถควบคุมระบบน้ำที่ใช้ในพื้นที่ให้ปราศจากสารเคมีจากพื้นที่โดยรอบได้ด้วยการทำระบบพักน้ำถึง 3 จุดด้วยกัน”
เมื่อถามถึงข่าวเรื่องหน้าแล้งที่ออกมา พ่อมานิตย์ก็ตอบว่า ต้องเตรียมพร้อมให้ได้มากที่สุด โดยทำบ่อเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้สำหรับทำการเกษตรภายในระยะเวลา 2 เดือน ทำคันล้อมเพื่อกั้นน้ำไม่ให้ท่วม และขุดยกร่องก็ช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้เมื่อปี 2561 พ่อมานิตย์ แทนเพชร ยังได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศอีกด้วย โดยสสส. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยหันมาเพาะปลูกทำการเกษตรด้วยระบบอินทรีย์ เพราะนอกจากจะเกิดผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรที่ไม่ต้องเสี่ยงโรคที่เกิดจากการใช้สารเคมีแล้ว ยังถือเป็นการช่วยรักษาระบบนิเวศ ดิน น้ำ อากาศ ได้เช่นกัน
และในวันที่ ‘22 มีนาคมของทุกปี’ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น ‘วันอนุรักษ์น้ำโลก’ ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของน้ำด้วยการใช้น้ำอย่างประหยัด ร่วมกันอนุรักษ์แหล่งน้ำสะอาด เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติให้คงอยู่ และส่งต่อให้เพื่อนในถิ่นห่างไกลได้เข้าถึงน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดและปลอดภัยจากสารเคมี