เมื่อ “จีดีพี” ไม่อาจวัดความสุข
จีดีพีวัดทุกอย่าง ยกเว้นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น
เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษมาแล้วที่ประเทศไทยและเกือบทุกประเทศทั่วโลก ใช้ ‘จีดีพี เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาของประเทศ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่สามารถสะท้อนการความอยู่ดีมีสุขของคนอย่างแท้จริง ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย เกิดภาวะโลกร้อน สารเคมีปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ คนเป็นโรคเครียด ปัญหาสุขภาพจิต…แล้วความสุขของคนอยู่ที่ไหน?
ประเทศอังกฤษใช้เวลา 30 ปี พัฒนาจีดีพี หรือผลผลิตมวลรวมประชาชาติให้เติบโตพุ่งไปถึง 300% แต่ในเวลาเดียวกันความพึงพอใจในชีวิตเติบโตน้อยกว่า 10% ล่าสุดยังมีผลสำรวจออกมาอีกว่าเป็นประเทศที่ติดอันดับมีความสุขน้อยที่สุดในยุโรป
เมื่อจีดีพีไม่อาจชี้วัดความสุขของคน ดังนั้น อาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยน วัดความเจริญของประเทศด้วยตัวชี้วัด “อื่น”
ขณะนี้ หลายประเทศกำลังให้ความสนใจกับการพัฒนาตัวชี้วัดที่จะสามารถสะท้อนมิติต่างๆ ของสังคม สิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิต ในระดับสากลได้มีความพยายามจากหลากหลายองค์กรในการจัดทำตัวชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริงของสังคมที่ครอบคลุมมิติต่างๆ ที่หายไปจากจีดีพี
ประเทศภูฎาณได้นำเสนอ ‘ความสุขมวลรวมประชาชาติ’ ในฐานะของการพัฒนาทางเลือกหนึ่ง และได้รับความสนใจอย่างมากไปทั่วโลก
เดือนที่ผ่านมามีการประชุมโต๊ะกลมระดับชาติ เรื่อง ‘ทิศทางและการวัดความก้าวหน้าของสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ โดย ดร.จอห์น ฮอล หัวหน้าโครงการการวัดความก้าวหน้าทางสังคมจากองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (oecd) กล่าวในการปาฐกถา เรื่อง “การวัดความก้าวหน้าของสังคม” ว่าวิกฤตการเงินที่ผ่านมา ปลุกให้ทั่วโลกตื่น หวนกลับมาคิดว่าการใช้จีดีพีก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง
“หกสิบปีที่ผ่านมา จีดีพี ดึงให้เราต้องสร้างนั่นสร้างนี่ แต่ไม่เห็นมีความสุข เราใช้เวลาทำงานมากกว่าอยู่กับครอบครัว แปลว่า มีอะไรบางอย่างผิดพลาด ดังนั้นเราต้องนิยามการพัฒนาใหม่ ซึ่งขณะนี้เรามีองค์การระดับโลกซึ่งมีกระบวนการทั่วโลกที่พยายามให้ภาคประชาสังคมสร้างตัวชี้วัดใหม่ขึ้นมา โดยมีคำถามหลักๆว่า วัดอะไร วัดอย่างไร และวัดแล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร”
หากถามว่า ประเทศไทยจะวัดความก้าวหน้าได้อย่างไรขึ้นกับคนไทยด้วยกันที่ต้องคุยกัน ภายในสังคม เพราะทุกคนที่อยู่ที่นี่มีทัศนะของตัวเองว่าความก้าวหน้าของประเทศคืออะไร และเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบไหนถ้าต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า
สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามในหลายองค์กรที่จะทำงานด้านตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน ดัชนีทางเลือกต่างๆ อยู่ไม่น้อย
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการวัดจีดีพีไม่เคยมีการวัดผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คือต้นทุนที่ต้องเสียไป สภาพัฒน์ฯ เองลองศึกษา ดูว่าสิ่งแวดล้อมมีผลมากน้อยเพียงใด โดยเอาตัวเลขปี 2548 คิดหักต้นทุนการใช้ทรัพยากรพลังงาน ป่าไม้ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและค่าใช้จ่ายในการรักษาสภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของรัฐและเอกชน รวมแล้วคิดเป็น 7.3% ของจีดีพี ซึ่งหมายถึงว่า จีดีพี 5.4 ล้านล้านบาท เรามีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุน 4 แสนล้านบาท ดังนั้นที่แท้จริงจึงเหลือเพียงประมาณ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งแท้ที่จริงต้นทุนยังมีมากกว่านั้นอีกแน่นอน
“การจะพัฒนาตัวชี้วัดขึ้นมา ต้องมีความชัดเจนของตัวแปรว่าจะวัดอะไร ที่ไม่มีข้อถกเถียง, สามารถวัดได้, เปรียบเทียบได้, ต้องมีความต่อเนื่อง, ต้องครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคม ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ”
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยความสุขชุมชนได้ทำการวัดความสุขมวลรวมของคนไทย หรือที่เรียกว่า gdh มาตั้งแต่ปี 2549 โดยประเมินภาพรวมของชีวิตประชาชนทั้งประเทศ โดยมีดัชนีชี้วัดรอบด้าน คือ ความจงรักภักดี บรรยากาศในครอบครัว ความสุขกาย ใจ วัฒนธรรมประเพณีไทย หน้าที่การงาน การเข้าถึงบริการการแพทย์ที่ดี บรรยากาศภายในชุมชน สภาพแวดล้อมที่พักอาศัย ระบบการศึกษาของประเทศและคุณภาพเยาวชน สภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน ความเป็นธรรมในสังคม เศรษฐกิจประเทศ ธรรมาภิบาลของรัฐบาล บรรยากาศทางการเมือง
โดยการวิจัยความสุขมวลรวมนี้กำลังได้รับความสนใจจากนักวิชาการต่างชาติทั่วโลกให้ไปนำเสนอในเวทีสัมมนาวิชาการนานาชาติ
ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ จากโครงการนำร่องการพัฒนาดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า การหาดัชนีชี้วัดใหม่เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างไม่มีทางเลือกในภาวะปัจจุบัน และต้องทำให้สำเร็จที่ผ่านมาหลายหน่วยงานของไทยได้ทำงาน และพัฒนาตัวชี้วัดอยู่มากกว่าสิบชุด มีตัวชี้วัดมากกว่าร้อยตัว ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน และมาคุยกัน ช่วยออกแบบ คิดเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด
การจะได้มาซึ่งตัวชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง และมีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้น ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งจะมาบอกได้ แต่ต้องอาศัยกลไกการทำงานที่มีการร่วมมือจากทุกภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคสังคม บนพื้นฐานการศึกษาวิจัย เวทีแลกเปลี่ยน และการสื่อสารออกไปให้ถึงประชาชนในวงกว้างนั่นเอง
“จีดีพีวัดทุกอย่าง ยกเว้นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น”
โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี้
ความสุข ทำให้คน “อายุยืน”
การวิจัยชิ้นหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาได้ทำการวัดว่าความสุขมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร โดยทำการศึกษาแม่ชี ระหว่างทศวรรษที่ 1930-1940 โดยดูช่วงนั้นว่าพวกเขามีความสุขขนาดไหน ตอนเป็นแม่ชี
เมื่อแม่ชีเสียชีวิต พบว่า แม่ชีที่มีความสุข จะมีอายุยืนมากกว่าแม่ชีที่ไม่มีความสุขถึง9-10 ปี แสดงให้เห็นว่าความสุขทำให้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้นได้
|
คนไทยสุขลดฮวบ
ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยความสุขมวลรวมของคนไทยลดลงอย่างมากจาก 7.15 ในต้นเดือนมิถุนายน เหลือเพียง 5.92 ในต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยคนไทยมีความสุขน้อยที่สุดในเรื่องบรรยากาศการเมือง
การวิจัยยังพบด้วยว่า ประชาชนที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงแท้จริงจะมีความสุขมากกว่าคนที่ใช้ชีวิตแบบไม่พอเพียงประมาณ 4 เท่า
|
ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข เดือนสิงหาคม 2552
update 13-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์
อ่านเนื้อหาเรื่องเล่าจากภาคีทั้งหมด